จดหมายเปิดผนึกถึง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

logotbjaweb

๒๕ กันยายน ๒๕๕๗

 

จดหมายเปิดผนึกจากสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

ถึง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

…………………………………………………………………………………………

 

เรื่อง      ขอให้ระงับการประกาศใช้ (ร่าง) เรื่องมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์

เรียน   คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

ตามที่คณะอนุกรรมการพัฒนาวิชาชีพกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อย ร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง มาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๗ ณ ห้องคริสตอล ๑-๒ โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค  กรุงเทพฯ นั้น  ทางคณะกรรมการบริหารสมาคมข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้พิจารณาร่างฉบับดังกล่าวโดยละเอียดแล้ว มีมติร่วมกันว่า ยังไม่สมควรที่จะมีการประกาศใช้ด้วยเหตุผล ดังนี้

๑. เนื่องจาก ในร่างประกาศดังกล่าว ยังมีเนื้อหาหลายส่วนที่ยังไม่มีความชัดเจนพอที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และอาจนำไปสู่การแทรกแซงเสรีภาพของสื่อได้

๒. การปรับแก้เนื้อหา ข้อความ ในข้อ ๑๑.๗ ที่ระบุ “ในกรณีองค์กรวิชาชีพเพิกเฉยไม่สามารถดำเนินการกำกับดูแลกันเองได้ ตามที่มีการร้องเรียน หรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา ๔๐ คณะกรรมการอาจนำเรื่องร้องเรียนมาพิจารณาตามที่เห็นสมควร”  ซึ่งถือว่าเป็นการแทรกแซงด้านจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนในการกำกับดูแลกันเอง

๓. การที่จะมีการประกาศใช้ร่างประกาศดังกล่าวเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญการปกครอง ฉบับชั่วคราว ปี ๒๕๕๗ ซึ่งระบุว่า สื่อสารมวลชนเป็นหนึ่งในกระบวนที่ต้องถูกปฏิรูป ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญประกาศหนึ่งของแนวทางการปฏิรูปประเทศ   “การกำกับดูแลกันเอง” อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง จึงถือว่าเป็นสาระสำคัญอย่างยิ่งจำเป็นต้องระดมความเห็นอย่างกว้างขวาง เพื่อนำเสนอผ่านไปยัง ผู้แทนด้านสื่อสารมวลชน ที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในสภาปฏิรูปฯ ซึ่งจะมีความเป็นสาธารณะและสอดคล้องกับความต้องการของสังคมที่จะมีส่วนร่วมเข้ามากำกับดูแลในกิจการด้านสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์

๔. ร่างประกาศดังกล่าว อาจมิชอบด้วย “อำนาจหน้าที่ของ กสทช”  เนื่องจากมาตรา ๓๙ ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์พ.ศ. ๒๕๕๑ มิได้กำหนดให้ อำนาจหน้าที่ กสทช. ออกประกาศ “ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด” แต่ กสทช. สามารถทำได้เพียงสนับสนุนด้วย “การส่งเสริมจากกองทุนตามมาตรา ๕๒ ” และถึงแม้ว่า  มาตรา ๒๗(๑๘)  ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ จะกำหนดให้อำนาจหน้าที่ กสทช. ในการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาตฯ  แต่ก็ไม่ได้กำหนดให้อำนาจคณะกรรมการในการประกาศกำหนด  ขณะที่มาตรา ๒๗ (๒๔) ให้อำนาจในการ “ออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งอันเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช.”  แต่ มาตรา ๓๙ ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์พ.ศ. ๒๕๕๑ ก็มิได้ให้อำนาจ กสทช.ไว้ ทั้งยังระบุแนวทางให้กับ กสทช. ในวรรคท้ายว่า “องค์กรตามวรรคหนึ่งที่มีการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรม  คณะกรรมการอาจให้การส่งเสริมจากกองทุนตามมาตรา ๕๒ ก็ได้”

ดังนั้น เพื่อมิให้ร่างประกาศดังกล่าว ขัดหรือแย้งกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช. และเพื่อให้สอดคล้องต่อกระบวนการปฏิรูปประเทศตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญการปกครองชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๕๗ ทางสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงเห็นสมควรที่จะให้ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติระงับการประกาศใช้ร่างประกาศฉบับนี้ออกไปก่อน เพื่อรอให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ ดำเนินการการปฏิรูปประเทศให้เกิดความชัดเจน  รวมไปถึงการปฏิรูปสื่อ เมื่อถึงเวลานั้นจึงสมควรที่จะนำร่างประกาศนี้มาพิจารณาดำเนินการว่าจะประกาศใช้หรือไม่

 

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

แท็ก คำค้นหา