ปฏิรูปสื่อรัฐ

คอลัมน์ เดินหน้าชน
โดย ทรงพร ศรีสุวรรณ

8-9 ปีที่เป็นฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหามาตลอดว่า รัฐบาลใช้อำนาจแทรกแซงและครอบงำสื่อของรัฐ โดยเฉพาะกรมประชาสัมพันธ์ และสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที (ช่อง 11)

กล่าวหาการเข้าไปจัดรายการที่ช่อง 11 ตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จัดรายการ “นายกฯทักษิณพบประชาชน” รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช จัดรายการ “สนทนาประสาสมัคร” และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จัดรายการ “รัฐบาลของประชาชน”

วิพากษ์วิจารณ์ว่า ใช้สื่อของรัฐเป็นกระบอกเสียงตอบโต้และกล่าวหาฝ่ายตรงข้าม

ยกเว้นรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งจัดรายการ “เปิดบ้านพิษณุโลก” โดยให้ผู้ดำเนินรายการเป็นผู้สัมภาษณ์ ที่ไม่ถูกข้อครหา

ส่วนกรมประชาสัมพันธ์ และช่อง 11 ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการรับใช้นักการเมือง และเสนอข่าวไม่เป็นกลาง

ซึ่งต้องยอมรับว่า การแทรกแซงสื่อของรัฐเป็นวังวนทางการเมือง รัฐบาลเกือบทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา พยายามที่จะเข้าไปแทรกแซง หวังใช้สื่อของรัฐโฆษณาผลงาน เป็นเครื่องมือทางการเมือง รวมทั้งเข้าไปแสวงหาประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง

ขณะที่สื่อของรัฐ ไม่ค่อยจะมีปากมีเสียง ต้องยอมทนกับแรงกดดันจากกลุ่มนักการเมือง เพราะหากออกอาการไม่พอใจ หรือไม่สนองนโยบาย ผลสุดท้ายอาจจะส่งผลต่อตำแหน่งหน้าที่การงาน

โดยคำสั่งย้ายอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เกิดขึ้นเกือบทุกรัฐบาล

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์พลิกกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็ประกาศปฏิรูปสื่อของรัฐทันที โดยกำหนดไว้ในนโยบาย ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551

1.ส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้ และเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารสาธารณะจากทางราชการ และสื่อสาธารณะอื่นได้อย่างกว้างขวาง เป็นธรรม และรวดเร็ว รวมทั้งให้กลไกภาครัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกมิติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

2.ปรับปรุงกลไกการสื่อสารภาครัฐให้ดำรงบทบาทสื่อ เพื่อประโยชน์สาธารณะและสร้างความสมานฉันท์ในชาติ

3.ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ต่ำ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

4.จัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ เพื่อให้สื่อมีเสรี ปราศจากการแทรกแซง และมีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสื่อมวลชนตามบทบัญญัติของ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

แม้จะยืนยันว่า จะไม่มีการแทรกแซง แต่รัฐบาลก็ถูกจับตามอง เมื่อรายการ “ความจริงวันนี้” ถูกถอดออกจากผังรายการช่องเอ็นบีที

ตามมาด้วยบริษัท ดิจิตอล มิเดีย โฮลดิ้ง จำกัด ผู้รับผิดชอบในการผลิตรายการข่าว กับกรมประชาสัมพันธ์ ผ่านทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที บอกเลิกสัญญา โดยอ้างว่าไม่สามารถปรับตัว และปรับการทำงานตามนโยบายรัฐบาลได้

ทั้งนี้ บริษัทดิจิตอลฯเข้ามารับงานในยุคนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และนายจักรภพ เพ็ญแข เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ล่าสุด การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ รับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 87/2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการปฏิรูปสื่อภาครัฐ มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ

โดยฝ่ายรัฐบาลให้เหตุผลว่า เป็นการศึกษาหาแนวทางป้องกันการเมืองเข้าไปแทรกแซง

แต่บรรดาผู้บริหารกรมประชาสัมพันธ์ เอ็นบีที และ อสมท ที่คลุกคลีอยู่ในวงการสื่อมาอย่างยาวนาน ได้แต่นั่งทำตาปริบๆ เพราะรัฐบาลไม่เชื่อใจว่าจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะซ่อมแซมและปรับปรุงบ้านของตัวเองได้

หากรัฐบาลต้องการให้สื่อของรัฐปลอดจากการถูกการเมืองแทรกแซง ก็ต้องทำให้สื่อของรัฐเป็นองค์การอิสระ

เพราะตราบใดที่ยังอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาล ก็ไม่มีทางที่จะทำงานได้อย่างอิสระ มีเสรีภาพอย่างแท้จริง

ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11307  หน้า 6

แท็ก คำค้นหา