ประชุมใหญ่สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เลือกตั้งกรรมการบริหารสมัยที่ 6

พร้อมทั้งจัดงานเสวนา  วิทยุ- โทรทัศน์  อยู่อย่างไร ในยุค NEW MEDIA  รายละเอียดดังนี้

 ประชุมใหญ่สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  เลือกตั้งกรรมการบริหารสมัยที่ 6

วันนี้  (27 กรกฎาคม 2551) สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2551  และมีการเลือกตั้งกรรมการบริหารสมาคมชุดใหม่  เป็นสมัยที่ 6  ประจำปี 2551-2552  โดยมีผู้ได้รับการเลือกตั้ง ดังนี้

1. นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์                      เครือเนชั่น                                   นายกสมาคม
2. นายประกาศิต คำพิมพ์           สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ                อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพ
3. นายศุภชัย กฤตผลชัย         บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)     อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ
4. นายพัชระ สารพิมพา                              บมจ.อสมท                                 อุปนายกฝ่ายวิชาการ
5. นายวิชัย วรวนาวงศ์                               นักจัดรายการอิสระ                       อุปนายกฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์
6. นายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์                             บมจ.อสมท                                เลขาธิการ
7. นายโกศล สงเนียม                                  บมจ.อสมท                                รองเลขาธิการ
8. นางสาวอภิรดี พรเลิศ                 บริษัท ไอเอ็นเอ็น เรดิโอ จำกัด                    รองเลขาธิการ
9. นางสุชาดา ภู่ทองคำ                              สื่อมวลชนอิสระ                            เหรัญญิก

10. นายพลภฤต เรืองจรัส                           TNN 24(ทรูวิชั่นส์)                        นายทะเบียน

11. นายพิพัทธ์ ชนะสงคราม                       สำนักข่าวทีนิวส์                           ปฏิคม
12. นางสาวณาตยา แวววีรคุปต์                สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ    กรรมการ
13. นางสาวธนานุช สงวนศักดิ์                    เครือเนชั่น                                   กรรมการ
14.นายวรรัฐ ภูษาทอง                    บริษัท ไทยเดย์ ดอทคอม จำกัด                  กรรมการ

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาเรื่อง “วิทยุ-โทรทัศน์ไทย อยู่อย่างไร ในยุค New Media”   โดยมีวิทยากร ร่วมการเสวนา ได้แก่          เทพชัย หย่อง                  ผู้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ

เกษม อินทร์แก้ว              นายกสมาคม สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย
อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ   กรรมการอำนวยการสายธุรกิจด้านสื่อภาพและเสียง เครือเนชั่น
ปรเมศวร์ มินศิริ               กรรมการผู้จัดการ  บริษัท บัณฑิตย์เซ็นเตอร์  จำกัด  (www.kapook.com)

ดำเนินรายการโดย            จิระ ห้องสำเริง                 ที่ปรึกษา สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

นิวมีเดีย ความท้าทายของสื่อเก่า :โอกาสใหม่ของคนทำสื่อ เพื่อสร้างช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น

นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ  กรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจด้านสื่อภาพและเสียง เครือเนชั่นวิเคราะห์ว่า  ในอนาคต สื่อยุคเก่าที่เป็นสื่อกระแสหลัก เช่น หนังสือพิมพ์  ทีวี วิทยุ จะต้องเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่  เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้สื่อออนไลน์ และสื่อใหม่ๆ มีบทบาทและได้รับความนิยมมากขึ้น หากไม่ปรับตัวก็จะได้รับผลกระทบอย่างมาก  ขณะนี้ สื่อสิ่งพิมพ์ ประสบภาวะต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมากจากราคากระดาษที่แพงขึ้นเป็นเท่าตัว (ต้นทุนกระดาษคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40-50 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด) จนทำให้ผู้ประกอบการต้องแก้ปัญหา เช่น ในต่างประเทศ สื่อบางฉบับลดจำนวนนักข่าวและจำนวนหน้าสิ่งพิมพ์ลง ส่วนในเมืองไทย ผู้ผลิต ต้องแก้ไขด้วยการลดขนาดกระดาษลง  ซึ่งเชื่อว่า ในอนาคต  การเปิดตัวหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ จะทำได้ยากขึ้น หากนายทุนไม่มีเงินทุนสำรองที่มากเพียงพอ

“ตอนนี้ หนังสือพิมพ์ไทยขนาดกว้างที่สุดคือ 31 นิ้ว เหลือแค่ 4 ฉบับคือ ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสดและคมชัดลึก

ฉบับอื่นๆ  ลดขนาดเหลือ 28 นิ้ว และคมชัดลึกก็จะลดขนาดลงเร็วๆ ส่วนกรุงเทพธุรกิจ เสาร์-อาทิตย์ ลดเหลือ 21 นิ้ว แล้ว

ซึ่งเป็นแนวโน้มเหมือนสื่อในต่างประเทศ เรียกว่าขนาด compact size  ในเมื่อรายได้เท่าเดิมแต่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ก็ต้องปรับตัวกันมาก  แนวโน้มสำคัญในสองสามปี คือ โมบาย อินเตอร์เนต ซึ่งเคลื่อนที่ได้จะได้รับความนิยมมากขึ้น เป็นการหลอมรวมคือ โทรศัพท์ มือถือและคอมพิวเตอร์   ผมเชื่อว่าอีก 3-5 ปี  จะเห็นความชัดเจนของสื่อไทยว่าจะเป็นรูปแบบใด  คุณค่าของคนทำงาน จะมีราคาสูงขึ้น  ตอนนี้ข่าว SMS รายได้แซงข่าววิทยุไปแล้ว  เพราะต้นทุนผลิตสูง โดยเฉพาะค่าสัมปทานและจะมีผลต่อโครงสร้างของสื่อด้วย มีบางค่ายคืนสัมปทานสื่อวิทยุ  ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต ในเวลาเดียวกัน เกิดสื่อวิทยุใหม่ทางอินเตอร์เนตจำนวนมาก  ที่สำคัญคือ การวัดผลได้  มีผลต่อโฆษณาในเว็ปไซต์ สามารถรู้จำนวนคนฟัง เช็คยอดได้ ขณะที่วิทยุและโทรทัศน์กระแสหลักทำได้ยากกว่า ”

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า  เครือเนชั่น วางทิศทางไว้ที่จะขยายตัวจากสื่อสิ่งพิมพ์สู่สื่อใหม่ที่เป็นออนไลน์มากขึ้น การสร้าง ok nation blog   ทำให้เห็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจ เพราะมีคนทั่วไปที่ไม่ใช่นักข่าว เข้ามาโพสต์ข้อมูลจำนวนมาก   ทุกคนสามารถเป็นนักข่าวได้ และจากสถิติ จำนวนสมาชิกของ ok nation blog ที่ปัจจุบันมีมากกว่า 3 หมื่นสมาชิก พบว่า มีคนโพสข้อมูลใหม่ใน blog ทุกๆนาที ตัวอย่างเช่น กรณีเขาพระวิหาร  นักข่าวเนชั่นที่มีจำนวนนับร้อยคน  เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ น้อยกว่า bloggers  เสียอีก

นายอดิศักดิ์ เชื่อว่า โลกอนาคต สื่อจะมีเนื้อหาที่เจาะจงเฉพาะกลุ่มมากขึ้น มีการปรับสมดุลและผสมผสานระหว่างสื่อเก่ากับสื่อใหม่  ราคาสื่อเก่าอาจแพงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น   แต่สื่อใหม่ ราคาถูกลง  นอกจากนี้จะมีการปรับตัวในแง่ธุรกิจและการลงทุน   โดยครึ่งปีหลังจะเห็นช่องดาวเทียมมากขึ้น   เครือข่ายเคเบิลทีวีจะกลายช่องทางที่สำคัญเป็นเครือข่ายใหญ่ที่สุด และมีจำนวนช่องมากที่สุด  แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเนื้อหาสาระของสิ่งที่ได้นำเสนอ ยังเป็นหัวใจสำคัญของทุกสื่อซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันระหว่างสื่อต่างๆ

นายเทพชัย หย่อง  ผู้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์ ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ

เชื่อว่า  พัฒนการทางเทคโนโลยี จะทำให้สื่อต่างๆต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ ซึ่งต้องเปลี่ยนรูปแบบไป เมื่อสื่อออนไลน์รุกเข้ามา  แต่สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนคือเนื้อหา ซึ่งต้องเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น

“ผมยังไม่เชื่อว่าหนังสือพิมพ์จะตายในวันนี้วันพรุ่ง แต่คงเปลี่ยนรูปแบบไป  แน่นอนว่าต้องปรับตัว   ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้รูปแบบการนำเสนอเนื้อหาสาระเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ เนื้อหาสาระ  content  จะทำเนื้อหาอะไร  เพราะช่องทาง ไม่เป็นข้อจำกัดอีกต่อไปแล้ว  ทุกคนต้องปรับตัว คนทำสื่อต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการทำงาน  ต้องทำให้คนดู คนฟังรู้สึกว่า หาข้อมูลเหล่านี้จากที่อื่นๆไม่ได้  ต้องที่นี่เท่านั้น  ”

นายเทพชัย กล่าวว่ายอดขายหนังสือพิมพ์ รวม 2.5 ล้าน จาก 64 ล้าน สะท้อนให้เห็นความสนใจด้านข่าวสารสาระของคนไทยว่ามีจำนวนไม่มากนัก   พร้อมกับตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรให้เด็กยุคใหม่ ซึ่งได้ข้อมูลจากอินเตอร์เนต  และสื่อต่างๆ หันมาสนใจและอ่านข้อมูลจากสื่อหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์  เพราะปัจจุบัน แหล่งข่าวของพวกเขามาจากอินเตอร์เนตมากกว่าและเมื่อ ศึกษาลึกลงไป สิ่งที่ค้นพบคือ ผู้ชมสนใจเนื้อหาบันเทิงในทีวีมากกว่ารายการข่าว  อย่างไรก็ตาม นายเทพชัยยังมองโลกแง่ดีว่า ความสำคัญของสื่อเก่ายังมีอยู่  แต่มองข้ามปรากฎการณ์นี้ไปไม่ได้ โดยเชื่อว่าการปรับตัวของสื่อยุคเก่านั้นต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

” ไม่อยากให้มองสื่อใหม่เป็นภัยคุกคาม แต่เป็นความท้าทายและเป็นโอกาสให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น  เราต้องเรียนรู้ว่า ทำอย่างไรจะได้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลง แทนที่จะต่อต้าน  ต้องคิดว่าทำอย่างไรจะเกาะกระแสสื่อใหม่ และความก้าวหน้าของไอที ใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร”

นายเทพชัยเห็นว่า สิ่งที่ดีของพัฒนาการทางสื่อออนไลน์คือ จำนวนแหล่งข่าว แหล่งข้อมูลจะมากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะแหล่งข่าวแบบเดิมๆ อีกต่อไป  ที่ผ่านมาคนทั่วไปที่มีความรู้ ไม่มีโอกาสจะบอก ก็จะมีพื้นที่ และช่องทางในการสื่อสารได้กว้างขวางมากขึ้น   เช่น blogger ต่างๆ  โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ชุมชน ต่างๆ  แหล่งข่าวไม่เป็นทางการจะมีประโยชน์มากต่อสื่อกระแสหลักให้เอาไปใช้ขยายผลต่อด้วย แต่สิ่งที่ต้องคำนึงต่อมาคือ  ความน่าเชื่อถือของข้อมูลต่างๆที่ถูกส่งผ่านเข้ามาในช่องทางต่างๆ จากแหล่งข่าวไม่เป็นทางการ  ซึ่งต้องการ การตรวจสอบข้อเท็จจริงและความถูกต้องเข้มงวดมากขึ้น  และสิ่งที่อยากเห็นคือ  สื่อออนไลน์ ได้เป็นผู้จุดความคิด นำไปสู่การเปิดประเด็นอภิปรายเพื่อพูดกันกว้างขวางมากขึ้น เพราะการศึกษาจะเป็นตัวชี้วัดว่า สังคมเจริญก้าวหน้าได้มากน้อยแค่ไหน

นายเทพชัย ทิ้งท้ายว่า เคเบิลทีวีจะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ชม  หากไม่โฆษณามากจนเกินไป  ก็จะมีคนทำงานข่าวสารสาระเพิ่มมากขึ้น  อยู่ได้ในทางธุรกิจและทำรายการที่เป็นประโยชน์ด้วย

นายเกษม  อินทร์แก้ว นายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย

เห็นว่า  องค์ประกอบของสื่อนั้นมีสองส่วน  ได้แก่เนื้อหากับเทคโนโลยี แล้วแต่ช่วงเวลาและสถานการณ์ว่าสิ่งใดจะเปลี่ยนก่อนหรือหลัง  ซึ่งในขณะนี้เห็นว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าเนื้อหามากจึงเป็นตัวกำหนด ทำให้การนำเสนอเนื้อหาเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี     อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ไปที่ เคเบิลทีวี ซึ่งจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นทางธุรกิจ แต่เมื่อเทียบกับในต่างประเทศ พัฒนาการและการเติบโตของเคเบิลทีวี ยังไม่ทัดเทียมต่างประเทศ

“ตัวเลข ผู้ชม 2.5ล้าน ครัวเรือน ถือว่าจำนวนยังไม่มาก  เมื่อกฎหมายเปิด (พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ซึ่งเปิดให้เคเบิลทีวีมีโฆษณาได้ชั่วโมงละ 6 นาทีจากเดิมที่ให้มีรายได้จากค่าสมาชิกเท่านั้น)ก็จะทำให้โอกาสของเคเบิลทีขยายการรับชมได้กว้างขวางมากขึ้น อาจขยายเพิ่มถึง 10 ล้านครัวเรือน โจทย์คือ ทำอย่างไรให้ผู้ชมเข้าถึงสื่อเคเบิลได้มากที่สุด ซึ่ง เทคโนโลยีใหม่เช่น ใยแก้วนำแสง จะตอบโจทย์นี้ได้”

นายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยยังมองว่า เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม เปิดโอกาสและสร้างทางเลือกให้กับผู้ชมโทรทัศน์  ที่ไม่ต้องจำกัดเงื่อนไขการรับเช่นที่เกิดขึ้นในโทรทัศน์กระแสหลัก  จึงเชื่อว่า เคเบิลทีวีจะเป็นช่องทางใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ชมได้มากกว่ารวมทั้งมีจำนวนช่องในการเลือกรับชมได้มากขึ้น

“ผมตั้งคำถาม ทำไมต้องมีข้อจำกัด การดูข่าวตอนสองทุ่มเท่านั้น  น่าจะมีโอกาสให้ทางเลือกกับคนดู  ดูได้เมื่อต้องการ ไม่มีข้อจำกัดเรื่องของเวลา อยากดูเมื่อไหร่ก็ได้”

นายปรเมศวร์ มินศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัท  บัณฑิตเซ็นเตอร์ จำกัด (www.kapook.com) 

มองแนวโน้มและอนาคตของสื่อสารมวลชนในเมืองไทยว่า จะเป็นยุคของสื่อที่มีฐานเกี่ยวข้องกับไอทีและมีความหลากหลาย เนื่องจาก พัฒนาการทางเทคโนโลยีจะทำให้สิ่งอำนวยความสะดวกหลายๆอย่าง กลายเป็นสื่อได้หมด และคนทั่วไปก็สามารถผลิตสื่อได้ด้วยตัวเอง  นอกจากนี้ สื่อไอทีจะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่จะเป็นการใช้ประโยชน์และสืบค้นข้อมูลในกลุ่มเนื้อหารายการด้านบันเทิงมากกว่าข่าวสารสาระ

“จากงานวิจัย พบว่า เกมออนไลน์    และแชท   เป็นช่องทางหลักที่เด็กและเยาวชนจำนวนมากเข้าไปเล่นทางอินเตอร์เนต  ส่วนเมื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเวปไซต์  พบว่ากว่าร้อยละ 90 ที่มีผู้เข้าไปดู จะเป็นเรื่องบันเทิง  ที่เหลือเป็นสาระ ซึ่งก็เกิดจากการค้นคว้าตามคำสั่งเช่น การทำรายงาน  หรือคุณครูสั่ง ดังนั้น จึงเป็นการอ่านและสืบค้นข้อมูลด้วยความจำเป็น แต่ไม่ใช่ด้วยความสนใจส่วนตัว  เมื่อวิเคราะห์ลึกไปที่การใช้เครื่องมือค้นหาคำที่ต้องการทางอินเตอร์เนต พบว่า คำว่า เกม และ เพลง  เป็นคำฮิตที่ได้รับการสืบค้นอย่างมากจากอินเตอร์เนต  ส่วนอื่นๆ เช่น ดูดวง ทำนายฝัน  เป็นต้น  สิ่งที่น่าสนใจคือ มีการค้นคำเหล่านี้ถี่มากขึ้นเฉลี่ยสองครั้งต่อเดือนก่อนวันหวยออก น่าสังเกตความเชื่อมโยงระหว่างกัน”

ด้วยเหตุนี้  นายปรเมศวร์  จึงไม่แปลกใจที่ตัวเลขของคนสนใจอ่านหนังสือพิมพ์ที่มีอยู่น้อยแล้ว ยิ่งลดลงไปอีก เพราะสื่อไอที แย่งชิงและดึงความสนใจของผู้อ่านไปจากสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อกระแสหลักอื่นๆ ที่น่าห่วงใยคือ พัฒนาการของสื่อวิทยุ ซึ่งเสียเปรียบในการแข่งขันของตลาดธุรกิจ จึงอาจได้รับผลกระทบมากกว่าสื่ออื่นๆ   อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ในอนาคต การแข่งขันของสื่อประเภทต่างๆในเมืองไทย กับสื่อไอที จะยังไม่ดุเดือด รุนแรงเหมือนเช่นในต่างประเทศ น่าจะยังอยู่ร่วมกันได้อีกระยะหนึ่งและถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไป 

สิ่งที่ต้องระมัดระวังเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ก็คือ ผลกระทบด้านสุขภาพ เนื่องจากจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพทั้งทางร่างกายเช่น ปวดหลัง ปวดศีรษะ  สายตา เพราะต้องเพ่งมองจอเป็นเวลานานๆ

ปรเมศวร์  ยังมองแนวโน้มโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นกับสื่อออนไลน์  ซึ่งจะเชื่อมโยงกับสื่อกระแสหลัก นั่นคือหากสามารถประมวลรวบรวมข้อมูลได้ว่า คนดูโทรทัศน์มีจำนวนเท่าใด แล้วต้องการรู้ข้อมูลต่อ คลิกต่อไปดูอินเตอร์เนต  หากมีตัวเลขเหล่านี้ ก็อาจกลายเป็นประโยชน์ในทางธุรกิจที่จะใช้เพื่อประกอบข้อมูลให้กับสปอนเซอร์ในการวางแผนโฆษณาสินค้าและบริการต่อไป

 

แท็ก คำค้นหา