แถลงการณ์ร่วม มาตรการแก้วิกฤตเพลงไทย

ตามที่องค์กรต่างๆ ตามรายชื่อท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ได้จัดการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “มาตรา 40 กู้วิกฤตเพลงไทย ทางออกอยู่ที่ไหน” เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2546 ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 100 คน ประกอบด้วยศิลปินพื้นบ้าน ศิลปินร่วมสมัย ผู้สร้างสรรค์ผลงานเพลง สมาชิกรัฐสภา สื่อมวลชน นักวิชาการทางการดนตรีจากสถาบันการศึกษาและประชาชนผู้สนใจทั่วไป ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นอันหลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อการหาแนวทางและมาตรการในการกู้วิกฤตเพลงไทยอย่างเป็นรูปธรรม

 

ดังนั้น องค์กรร่วมจัดการสัมมนาในครั้งนี้ จึงมีมติร่วมกันเป็นข้อเรียกร้องถึงฝ่ายต่างๆ ดังต่อไปนี้

 

1.รัฐบาลต้องเร่งรัดกระบวนการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ให้เป็นไปอย่างโปร่งใสและปราศจากการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ที่เข้ามาครอบงำคลื่นความถี่วิทยุและเวลาของสถานีโทรทัศน์ต่างๆ อันเป็นที่มาของการผูกขาดตัดตอนธุรกิจเพลงไทยในปัจจุบัน

 

2.รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ……ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 40 โดยเฉพาะการคงไว้ซึ่งบทบัญญัติที่วางไว้เพื่อป้องกันการครอบงำกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

 

3.ในภาวะที่ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์พ.ศ……..ยังไม่มีผลบังคับใช้ และไม่มีคณะกรรมการกสช. รัฐบาลต้องใช้อำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาดตัดตอนในธุรกิจเพลงไทยโดยเฉพาะปัญหาการใช้อำนาจเหนือตลาดโฆษณาของบริษัทผู้ผลิตเพลงรายใหญ่ และปัญหาเจ้าของธุรกิจเพลงไทย เข้ามาเป็นเจ้าของสื่อวิทยุและโทรทัศน์เป็นเหตุให้ผลงานเพลงของศิลปินอิสระ ไม่เป็นที่แพร่หลาย

 

4. คณะกรรมการกำกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช.) ที่ยังคงมีอำนาจอยู่ในขณะนี้ ต้องวินิจฉัยให้ชัดเจนว่ารายการเพลงทางสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ต่างๆ โดยเฉพาะรายการประเภทมิวสิควิดีโอ เป็นเนื้อหารายการหรือเป็นรายการโฆษณา เพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่มีการแอบแฝงนำเอาเวลาของรายการวิทยุและโทรทัศน์ดังกล่าวไปเป็นเวลาของการโฆษณาทั้งหมด

 

5.รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจในการกำหนดนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณการดนตรีและเพลงไทย ภายใต้หลักการการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 40 และมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ มาตรา 46 มาตรา 69 มาตรา 81และมาตรา 289 ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงในวิชาชีพศิลปะการดนตรีทั้งดนตรีพื้นบ้านและดนตรีสากล

 

6. กระทรวงวัฒนธรรม ต้องเร่งจัดตั้งสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ เพื่อให้เป็นสื่อในการส่งเสริมเผยแพร่ และจรรโลงไว้ ซึ่งศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของไทย รวมทั้งเพลงที่หลากหลาย โดยปราศจากการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจใด ๆ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมและจัดกิจกรรมส่งเสริมฟื้นฟูที่เป็นรูปธรรมเผยแพร่ในสื่อต่างๆ

 

18 สิงหาคม 2546

สมาคมสมาพันธ์สื่อศิลปวัฒนธรรมไทย
สถาบันพัฒนาการขับร้องเพลงไทยสากล
มูลนิธิดำรง พุฒตาล
สภาวัฒนธรรมเขตห้วยขวาง
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

แท็ก คำค้นหา