“คงสิทธิเลขหมาย”หนึ่งมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภค

คอลัมน์ Active Opinion

ผู้ที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกคน…คงเคยประสบกับปัญหาในการใช้บริการใดที่ไม่สามารถหาทางออกหรือหลีกเลี่ยงกับปัญหานั้นได้บ้างหรือไม่

สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคจากกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เห็นว่ามีอีกหนึ่งปัญหาที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทุกคนล้วนจำจะต้องเจอ และอาจก่อให้เกิดความรู้สึกขัดเคือง หงุดหงิดรำคาญใจในการใช้บริการอย่างยิ่งนั่นก็คือ การไม่สามารถย้ายค่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจากเจ้าแรกที่เราซื้อเบอร์ ซื้อซิมมา ในตอนแรก แล้วไปใช้บริการเจ้าอื่นๆ ที่มีการให้บริการโดนใจกว่า มีโปรโมชั่นถูกใจกว่า หรืออาจจะราคาที่ถูกกว่าโดยที่ยังคงสามารถที่จะใช้หมายเลขโทรศัพท์เดิมของเราได้

นั่นคือที่มาของคำว่าบริการคงสิทธิเลขหมาย (Mobile Number Portability : MNP) หมายถึงบริการที่สามารถเอื้อให้ผู้ใช้บริการยังคงถือครองเลขหมายเดิมได้ในขณะที่สามารถเปลี่ยนผู้ให้บริการ สถานที่ หรือประเภทบริการได้

เป้าหมายของการคงสิทธิเลขหมายก็เพื่อประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการในการเลือกรับบริการ โดยคาดว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น มีการพัฒนาคุณภาพบริการเพื่อรักษากลุ่มลูกค้าของตน มีการใช้ทรัพยากรเลขหมายโทรคมนาคมอย่างคุ้มค่า เป็นการส่งเสริมการแข่งขันของผู้ให้บริการ ส่งเสริมการเข้ามาของผู้ให้บริการรายใหม่ที่สามารถเข้าถึงหมายเลขโทรคมนาคมอย่างเท่าเทียม และการเป็นส่งเสริมการใช้เลขหมายโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ได้มีการเพิ่มเลขหมายจาก 9 หลัก เป็น 10 หลัก เนื่องจากมีเลขหมายไม่พอเพียงกับความต้องการใช้

ข้อมูลปีที่ผ่านมา พบว่าได้มีการจัดสรรเลขหมายให้ผู้ให้บริการไปแล้วประมาณ 67 ล้านเลขหมาย โดยมีการเปิดใช้บริการแล้วประมาณ 49 ล้านเลขหมาย คิดเป็นอัตราการเปิดใช้บริการ (efficiency use) ประมาณร้อยละ 75 หรือเมื่อคิดการใช้เลขหมายต่อจำนวนประชากร อยู่ที่ร้อยละ 74 ซึ่งจะต้องส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เหมาะสม และการบริหารจะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตลอดจนต้องคุ้มครองสิทธิ ประโยชน์ของผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่

ในการโอนย้ายจะมีภาระในเรื่องของต้นทุนค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และจำต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการคือ การจัดตั้งระบบ Clearinghouse ที่เปรียบเสมือนกองบัญชาการในการเปลี่ยนแปลงเครือข่าย เนื่องจากผู้ให้บริการเครือข่ายแต่ละรายต้องปรับเปลี่ยนระบบเปลี่ยนช่องสัญญาณโทรศัพท์ ระบบบัญชี และเพิ่มระบบ Clearinghouse เข้าไปด้วย ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนอุปกรณ์ Clearinghouse อยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาท

ฉะนั้น อัตราค่าธรรมเนียมการโอนย้ายในตอนนี้ ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่าจะอยู่ที่จำนวนเท่าไรเนื่องจากยังไม่มีตัวเลขของต้นทุนที่แท้จริง อีกทั้งผลการศึกษายังไม่มีข้อสรุป บางครั้งต้นทุนที่เกิดขึ้นทางผู้ประกอบการอาจจะรับผิดชอบแทนผู้ใช้บริการก็ได้ หรืออาจจะแบ่งกันรับผิดชอบระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการก็ได้ ซึ่งจะต้องรวบรวมข้อมูล เพื่อเสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลในเรื่องนี้โดยตรงคือ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ให้เป็นผู้พิจารณา ซึ่งได้มีการลองคำนวณคร่าวๆ พบว่าต้นทุนจริงๆ อยู่ที่ประมาณ 230 บาท

จากการสำรวจความคิดเห็นของสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ได้สำรวจพฤติกรรมการใช้บริการและประเมินการให้บริการของโทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเตอร์เน็ต ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในช่วงเดือนเมษายน 2551 ที่ผ่านมาโดยสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ พบว่าประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามระบุอัตราค่าธรรมเนียมการบริการการโอนย้ายที่ต้องการเฉลี่ยอยู่ 50.20 บาท

มีรายงานข้อมูลจากต่างประเทศที่ได้ให้บริการการคงสิทธิเลขหมายหลายประเทศ ทั้งในแง่ระยะเวลาและค่าธรรมเนียมในการโอนย้ายเลขหมาย พบว่าค่าธรรมเนียมในการโอนย้ายเลขหมายพบว่ามีถึง 9 ประเทศที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมการบริการ อาทิ เบลเยียม โครเอเชีย ไซปรัส เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ ลิทัวเนีย และสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนประเทศอื่นๆ คิดค่าธรรมเนียมเฉลี่ยอยู่ที่ 8.38 ยูโร โดยสหราชอาณาจักรคิดค่าธรรมสูงที่สุดถึง 43.55 ยูโร (ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 18 ก.ย.2551 จำนวน 1 ยูโรเท่ากับ 48.67 บาท)

ส่วนในด้านระยะเวลาในการดำเนินการนั้น พบว่าประเทศที่ใช้เวลาต่ำสุดในการดำเนินการ คือไอร์แลนด์ ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง และประเทศฝรั่งเศสใช้เวลาสูงสุดในการดำเนินการคือ 30 วัน ส่วนประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรีย เยอรมนี สวีเดน ฯลฯ เฉลี่ยอยู่ในช่วง 7-8 วัน

การวางหลักเกณฑ์ในเรื่องสิทธิการคงเลขหมายโทรศัพท์ เป็นมาตรการที่จะก่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภค การแข่งขันในการรักษาคุณภาพในการให้บริการและราคาในการให้บริการ โดยจะต้องมีการพิจารณาในเรื่องราคาที่จะต้องจ่ายในการเปลี่ยนผู้ให้บริการที่จะต้องไม่สูงจนเกินไป จนกลายเป็นอุปสรรคในการใช้กลไกในการถอนตัวเพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และส่งเสริมการแข่งขันในอุตสาหกรรม และความรวดเร็วในการให้บริการ และการเปลี่ยนแปลงผู้ให้บริการจะต้องไม่นานเกินไปจนผู้บริโภคหมดแรงจูงใจในการดำเนินการด้วย…

ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวันวันที่ 08 มกราคม พ.ศ. 2552 หน้า 26

แท็ก คำค้นหา