สรุปผลการสัมมนาทางวิชาการ

ประชาธิปไตยไทยจะไปรอดได้อย่างไร
วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๑ เวลา ๑๔.๐๐ น. หอประชุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สืบเนื่องจากแถลงการณ์ที่ประชุมผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๑ ที่ได้แสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องดังนี้

•1.                           คัดค้านการเสนอชื่อบุคคลใดที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่ามีการกระทำอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งทำให้ขาดคุณสมบัติและต้องพ้นจากตำแหน่งกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

•2.                           การคัดสรรและเสนอชื่อผู้นำประเทศนำในภาวะความขัดแย้งนี้ต้องการมาตรฐานทางจริยธรรมและหลีกเลี่ยงการสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่การเผชิญหน้า

•3.                           กระบวนการตัดสินใจต้องรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชนกลุ่มต่างๆ ให้กว้างขวางมากที่สุด

•4.                           ทุกฝ่ายต้องเคารพกฎหมายและเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย

•5.                           รัฐบาลควรใช้สื่อของรัฐเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวมเป็นหลักยุติการใช้สื่อของรัฐให้เกิดความแตกแยกขึ้นไปในชาติ โดยเฉพาะการใช้สื่อของรัฐให้เกิดความเที่ยงธรรมแก่ทุกฝ่าย

เพื่อเป็นการตอกย้ำจุดยืนของคณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้มีการจัดสัมมนาดังกล่าวนี้ขึ้น โดยมีข้อสรุปได้ดังนี้

รองศาสตราจารย์ ดร.พอพันธ์ วัชจิตรพันธ์ ประธานสภาคณาจารย์ ให้ข้อเสนอแนะว่า

ในสภาวะปัจจุบัน นักการเมืองอ้างรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญเขียนไว้เพื่อใช้ในสถานการณ์ปกติ โดยในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเราอยู่ในภาวะวิกฤติ เราต้องคิดนอกกรอบเพื่อให้แก้ไขวิกฤตให้ได้ จึงขอเสนอแนวทางแก้ไขทั้งระยะสั้นและระยะยาวดังนี้

  • ๑. เป็นเรื่องของการขาดจริยธรรม และคุณธรรมอย่างรุนแรงของผู้บริหาร จากคำพิพากษาเห็นได้ว่าไทยมีผู้บริหารที่ไม่มีคุณสมบัติของผู้นำ ต้องอาศัยตุลาการภิวัฒน์มาแก้ไขสถานการณ์
  • ๒. สส.พักร่วมรัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะเป็นคนเสนออดีตนายกเข้ามา จึงต้องรับผิดชอบด้วยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ดึงดันที่จะเสนอกลับเข้ามาอีก ต้องเสียสละบ้าง ต้องเห็นประโยชน์ประเทศมากกว่าส่วนตัวหรือพรรค ต้องมีคุณธรรมเสียสละ รับใช้ประชาชนประเทศชาติ ไม่ใช่มารับใช้เกื้อกูลคนของตนเองหรือเพื่อพรรคพวก
  • ๓. ศาลควรเร่งดำเนินการ เริ่มเห็นผลชัดเจนมากขึ้นแล้ว สะสางคดีของนักการเมืองให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ศาลเป็นที่พึ่ง เป็นสถาบันที่สำคัญมากในขณะนี้
  • ๔. อยากเห็นให้มีรัฐบาลแห่งชาติ หรือสภาที่เป็นการปฏิรูปใหม่ เพื่อปูทางไปสู่การปฏิรูปการเมืองต่อไป โดยมีตัวแทนจากส่วนต่างๆเข้ามาร่วม ไม่เฉพาะเสียงข้างมากของสส.ที่ซื้อเสียงกันมา เราต้องเปลี่ยนแปลงผู้บริหารและนักการเมืองของประเทศ แต่ในขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลแห่งชาติต้องรีบทำคือรื้อสิ่งที่รัฐบาลไม่ชอบธรรมได้ทำเอาไว้ ยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน และดูแลการเลือกตั้งใหม่ให้บริสุทธิ์ยุติธรรม อย่าให้นักการเมืองชุดปัจจุบันดูแลเพราะจะเป็นแบบเดิมอีก
  • ๕. พันธมิตรควรสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปโดยการลดกระบวนการที่ทำให้เกิดความรุนแรง ใช้อหิงสา แต่ก็ยังมีสิทธิที่จะปกป้องระวังตัว หลายฝ่ายเริ่มเห็นแล้วว่าพันธมิตรยอมรับว่าตนทำผิดกฎหมาย อารยะขัดขืนคืนการทำผิดกฎหมาย เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจ เมื่อไม่มีทางออกต้องมีทางออกต้องมีทางที่ทำให้ประชาชนยอมรับว่าตนเองขัดขืนทำผิดกฎหมาย แต่ไม่มีสิทธิใช้ความรุนแรงทำร้ายพวกต่อต้าน อยากให้พันธมิตรมีส่วนร่วมในการเสนอแนะด้วย อย่าเรียกร้องอย่างเดียว ต้องมีความคิดเสนอแนะที่นำไปสู่สันติและการเมืองที่ปราศจากความชั่วร้าย
  • ๖. อยากเห็นประชาชนรวมตัวกันมีองค์กรอิสระ ดูแลเรื่องจริยธรรมคุณธรรมของนักการเมืองและผู้บริหารประเทศ รวมทั้งข้าราชการในกระทรวงต่างๆ ต้องผนึกพลังว่าเราจะยอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้ เราอย่าพูดว่าเรื่องคุณธรรมจริยธรรมเป็นเรื่องของต่างประเทศ เราไม่ต้องเลียนแบบเขา แต่เราไปเลียนแบบเรื่องอื่นได้ แต่เรื่องจริยธรรมคุณธรรมไม่ดูแล้วเอามาใช้แบบเขา
  • ๗. ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจในสิทธิและการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงแบบมีส่วนร่วมขยายไปให้ทั่วถึง ประชาชนคือเจ้าของอำนาจการปกครองที่แท้จริง ไม่ใช่อยู่เฉพาะนักการเมืองที่ได้รับเลือกมาแล้วจะทำอะไรก็ได้ โดยไม่นึกถึงบุญคุณของคนที่ยื่นโอกาสและอำนาจให้เข้าไปบริหารประเทศ
  • ๘. อยากเห็นการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ให้อยู่ใต้อิทธิพลและเป็นเครื่องมือของนักการเมือง และเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อย่างแท้จริง และอยากเห็นทหารเป็นทหารอาชีพของประชาชนต่อไป
  • ๙. อยากเห็นประชาชนคนมีการศึกษาในบ้านนี้ ช่วยออกมาปกป้องสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ยอมรับความชั่วหรือความไม่ถูกต้อง การอยู่เฉยๆไม่เลือกสีแดงหรือเหลือง เป็นสีส้ม ถ้าอะไรสมประโยชน์ของตนเองก็เฉย ถ้าขัดก็วุ่นวาย ต้องนึกถึงคนที่เสียสละมาในอดีตจากการต่อสู้เพื่อประเทศมาจนถึงวันนี้ เราจะยอมให้กลับไปสู่ระบบเดิมได้อย่างไร
  • ๑๐. อยากเห็นสถาบันอุดมศึกษาตรวจสอบบทบาทขอตนเองอยู่เสมอ และร่วมมือกันเป็นผู้นำในการสร้างคนดี มีคุณธรรม เป็นที่พึ่งทางปัญหา ช่วยพัฒนาประชาธิปไตย โดยทำเป็นตัวอย่างที่ดี เรียกร้องความถูกต้อง เริ่มตั้งต้นทำสิ่งดีงาม เป็นสังคมที่มีธรรมภิบาลต่อไป

นายไพโรจน์ พลเพชร ผู้ทรงคุฯวุฒติด้านธรรมาภิบาล เสนอแนะว่า

ขอบคุณจุฬาฯที่เป็นชุมชนวิชาการที่เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง

วิกฤตวันนี้มี ๒ ประการ คือ ปัญหาการเมืองไทยที่สำคัญและกำลังพัฒนาอย่างก้าวหน้าขึ้น มีความขัดแย้งหรือความชอบธรรม ๒ ชนิด เป็นคำถามที่ใหญ่มาก ถ้าเราสามารถตอบได้ เชื่อว่าสังคมจะก้าวหน้ามากขึ้น

ประเด็นที่ ๑. คือการที่บอกว่า มาจากการเลือกตั้งหรือได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน และสามารถมีความชอบธรรมที่จะทำอะไรก็ได้ตลอดไป และมีการตั้งคำถามว่าความชอบธรรมนี้มีจริงหรือไม่ สามารถเซ็นต์เช็คล่วงหน้าแล้วทำอะไรทุกอย่างได้ เราคุ้นเคยว่าถ้าได้รับการเลือกตั้งเสียงข้างมากก็ได้รับความชอบธรรม และสามารถอ้างเพื่อทำอะไรได้ตลอด ความชอบธรรมอันที่สองคือ เราจะใช้อำนาจแบบไหนเพื่อเป้าหมายอะไร นี่คือสิ่งที่พันธมิตรตั้งคำถามว่า แม้ท่านจะมาจากการเลือกตั้ง แต่เป้าหมายในการใช้อำนาจนั้นชอบธรรมหรือไม่ ใช้อำนาจเพื่อพวกพ้องหรือฉ้อฉลหรือเพื่อประโยชน์ตัวเองหรือไม่ เป็นสองมิติ ซึ่งควรมีทั้งสองมิติ หมายความว่า ไม่ได้หมายความเมื่อได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนแล้ว เพียงพอในการขึ้นสู่อำนาจ ควรใช้อำนาจนั้น หรือเป้าหมายการใช้อำนาจต้องชอบธรรมเพียงพอ และปวงชนก็สามารถตรวจสอบดูแล ตั้งคำถาม ถ่วงดุลอำนาจ โต้แย้งคัดค้านได้ เป็นพัฒนาการหรือผลพวงความพยายามที่สร้างมา ประชาชนควรมีบทบาทมีฐานะการตรวจสอบการใช้อำนาจได้ตลอดเวลา บางฝ่ายคิดไปไกลถึงควรมีการเลือกตั้งอีกหรือไม่ บางคนคิดว่าต้องหาคนดีมีศีลธรรมใส่เข้าไปในระบบแล้วทุกอย่างจะแก้ได้ ไม่ต้องแก้ระบบ ดังนั้นต้องถือว่าเราพัฒนาไปมาก เพราะในอดีตเราตั้งคำถามว่า อำนาจนั้นชอบธรรมหรือไม่ นี่เป็นประเด็นที่เราต่อสู้กันมาในระบบเผด็จการตลอด แต่ในครั้งนี้ไม่ใช่ เป็นมิติใหม่ให้คิดต่อว่าเราจะทำอย่างไร การเผชิญหน้าครั้งนี้เป็นการขัดแย้งที่กว้างกว่า เพราะเป็นการระดมผู้คนทุกสาขาอาชีพเข้าสู่มิติทางการเมือง อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในการต่อสู้ประชาธิปไตยไทย ลูกเด็กเล็กแดง คนชรา คนเมือง ชนบท คนในครอบครัวสามารถเข้าสู่มิติทางการเมืองได้ขนานใหญ่ การเรียนรู้ทางการเมืองเป็นคุณต่อการพัฒนาประชาธิปไตยซึ่งนี่คือด้านบวกของการต่อสู้ครั้งนี้ ในอดีตแม้เราจะมี ๑๔ ตุลา แต่ก็ไม่เคยมีการระดมคนเข้ามาสู่ระบบได้มากขนาดนี้ นี่คือด้านบวกของการเคลื่อนไหว นี่คือการสร้างประชาธิปไตยที่ไม่ต้องเข้าโรงเรียน ท่องตำรา

แต่ด้านที่กำลังจะมีปัญหาคือ มันสร้างความฝักฝ่ายเลือกข้างขนานใหญ่เหมือนกัน ลงลึกไปในระดับสถานศึกษา ระดับห้องเรียน ครอบครัว ทุกระดับมีการขัดแย้งเผชิญหน้าเลือกข้างอย่างขนานใหญ่เหมือนกัน ถ้าจัดการไม่ดีพอจะไม่เป็นคุณต่อการสร้างประชาธิปไตยใหม่ แต่ถ้าจัดการกับความเห็นที่แตกต่างได้ สามารถอยู่ร่วมกันได้ นี่คือก้าวใหญ่ของประชาธิปไตยไทย ซึ่งเป็นผลผลิตของการต่อสู่ที่ผ่านมา นี่คือห้องเรียนใหญ่ แต่เราจะสามารถอยู่ร่วมกับความแตกต่างนี้ได้หรือไม่ ในอดีตที่ผ่านมาวัฒนธรรมของไทย เราขจัดความขัดแย้งหรือแตกต่างด้วยการกำจัดทิ้งคู้ต่อสู่อยู่เสมอๆ ถ้ารัฐขัดแย้งกับประชาชน รัฐก็ถืออำนาจกำจัดคู่ขัดแย้งทิ้งไป หมายว่าต้องสร้างเงื่อนไขความรุนแรงให้เกิดขึ้น มีการชุมนุมทางการเมือง มีความรุนแรง แล้วมีการยึดอำนาจรัฐประหาร ประชาธิปไตยถดถอย นี้คือวัฒนธรรมไทย ครั้งนี้เราจะก้าวผ่านได้หรือไม่ เพราะเงื่อนไขความรุนแรงในวันนี้มี ๒ อย่าง คือการไม่ลดราวาศอกในข้อเรียกร้องของทั้งสองฝ่าย รัฐบาลพร้อมที่จะเอาชนะ ท้าทาย รัฐบาลว่าคุณสมัครต้องออกก็พร้อมจะเลือกเข้ามาใหม่ ขณะที่พันธมิตรบอกว่าคุณไม่ออกผมก็พร้อมจะเผชิญหน้า จะลุยไม่เลิก ประเด็นที่สองที่น่าห่วงที่สุดคือ การต่อสู้นี้มีการนำมวลชนเข้าต่อสู่กันเองด้วย ความรุนแรงจึงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒ กันยายน คือประชาชนฆ่ากันเองเพราะบรรลุเป้าหมายของประชาชนทั้งสองฝ่าย ในอดีตความรุนแรงเกิดจากรัฐกับประชาชน ครั้งนี้ไม่ใช่ ประเด็นความรุนแรงเกิดจากการสร้างความเกลียดชังขนานใหญ่เหมือนกัน โดยการต่อสู้กันทั้งสองฝ่าย วิทยุโทรทัศน์มี ๒ ฝ่าย ทีวีมี ๒ ฝ่าย หนังสือพิมพ์น้อยกว่าแต่เราเห็นการสร้างความเกลียดชังในสื่อ หรือในเวทีปราศรัยปลุกระดมความเกลียดชัง เห็นคู่ต่อสู้ไม่ใช่มนุษย์พร้อมที่จะห้ำหั่นทันทีถ้าเผชิญหน้า พร้อมฆ่ากันได้ ทำไมมนุษย์ ๒ กลุ่ม ที่ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อนพร้อมที่จะฆ่าทุบตี ทำลายล้างเพราะการให้ข้อมูลที่เกลียดชังทำลายล้างฝังลงไปในจิตใจของคนโดยผ่านสื่อที่ตนเองกุมไว้ นี่สำคัญมากที่ทำให้ความเกลียดชังขยายตัว เพราะความเกลียดชังนำไปสู่ความรุนแรง ความรุนแรงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ไม่เหมาะสม เรา หมายถึง สังคมไทย ที่ไม่ใช่พันธมิตรกับรัฐบาล ไม่ใช่สมัครกับสนธิ ไม่ใช่แกนนำกับรัฐบาล หรือคุณทักษิณกับใครที่พูดกัน เราจะกำกับความรุนแรงนี้ได้หรือไม่ เราจะเปลี่ยนผ่านโดยสันติวิธีได้หรือไม่เป็นคำถามใหญ่ ไม่ใช้คนสองคนแต่เรากำลังพูดถึงสังคมทั้งสังคมจะจัดการกับความขัดแย้งได้อย่างไร ถ้าทำได้นี่คือพัฒนาการใหญ่ของสังคมไทยในด้านประชาธิปไตย และเป็นการสั่งสมที่สำคัญมาก นักศึกษาก้าวสู่สังคมทางการเมืองมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ข้อเสนอคือ ๑ ต้องลดเงื่อนไขความรุนแรงทั้งพันธมิตรและรัฐบาล อย่าใช้สื่อเพื่อสร้างความเกลียดชัง มีเหตุผลอย่างไรก็อธิบายไปว่าชอบธรรมอย่างไร แต่อย่าปลุกความเกลียดชัง และเรียกร้องให้เราทุกคนกำกับการใช้สื่อแบบนี้ รวมทั้งเรียกร้องต่อสื่อในฐานะผู้สื่อสารต่อประชาชนให้ระมัดระวังการสื่อสารให้มากที่ไม่สร้างความเกลียดชัย เพื่อทำให้เดินไปได้อยู่ร่วมกันได้จัดการความแตกต่างโดยไม่กำจัดทิ้ง

ข้อเสนอที่ ๒ คือ เรียกร้องต่อคุณสมัคร พรรคพลังประชาชน ๖ แกนนำพรรค ควรต้องรับผิดชอบต่อคำตัดสินของรัฐธรรมนูญ เพราะศาลบอกคุณสมัครต้องพ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นท่านต้องรับผิดชอบต่อคำตัดสินว่าท่านจะเอากลับมาอีกไหม ถ้าท่านเอากลับมาอีกท่านกำลังสร้างเงื่อนไขการเผชิญหน้าให้เงื่อนไขความรุนแรงมันกลับมาอีก ๖ พรรคท่านจะรับผิดชอบไหวไหม ท่านจะให้เป็นแบบพฤษภา ๓๕ ใช่ไหม พรรคคุณบรรหาร คุณสมัคร คุณเสนาะ คุณสนั่น คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน คุณสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นคนโหวตให้คุณสุจินดาเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านจะเป็นแบบนั้นอีกหรือไม่ ท่านจะไม่เรียนรู้บทเรียนจะให้พี่น้องไปตายอีกหรือไม่ ต้องเรียนรู้บทเรียน ไม่รับผิดชอบต่อสถาบัน ต่อชีวิตผู้คน พรุ่งนี้จะโหวตกัน ท่านต้องคิดเรื่องนี้

ประเด็นที่ ๒ ในแง่พันธมิตรหรือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ท่านต้องลดราวาศอก ถ้าพันธมิตรยืนยัน สันติ อารยะขัดขืน และถ้าท่านถูกกล่าวหาว่าผิดกฎหมายก็ต้องพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมพร้อมพิสูจน์ตนเองทั้งข้อหากบฏ ว่าไม่ใช่แต่เป็นกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองปกติ เป็นวิสามัญของพลเมืองที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ ต้องพร้อมเจรจา ประเด็นต่อไปคือต้องพร้อมเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปการเมือง ต้องเข้าร่วมเสนอกระบวนการแก้ปัญหาระยะยาว ทั้งฝ่ายนปก.ด้วย ต้องเรียกร้องทั้งสองฝ่าย

ประเด็นที่ ๓ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องยกเลิก ทหารได้แสดงภาวะอดกลั้นให้ไปสู่ภาวะปกติ ดังนั้นควรยกเลิกเสีย ยกเลิกก็เหมือนไม่ได้ยกเลิก เพราะเป็นภาวะปกติด แต่ทหารต้องกำกับความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้

ประเด็นที่ ๔ ต้องปฏิรูปการเมือง เพราะมันมีความขัดแย้งกันในเรื่องการเมืองแบบตัวแทนกับการเมืองภาคประชาชน เป็นพื้นที่อำนาจที่ขัดกัน เพราะการเมืองแบบตัวแทนไม่เพียงพอ คณะกรรมการปฏิรูปการเมืองต้องตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา ทำหน้าที่ประมวลข้อเรียกร้องของฝ่ายต่างๆ แล้วนำไปสู่การปฏิรูปรัฐธรรมนูญมีอายุไม่น้อยกว่า ๑ ปี นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฟังความเห็นของประชาชนเป็นระยะๆข้อเสนอนี้เรียกร้องต่อรัฐสภา เพราะเคยทำมาแล้วในสมัยคุณชวน คุณบรรหาร จนนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองเมื่อปี ๔๐ ทำอย่างนี้ทุกฝ่ายจะหยุดได้ แล้วมาสำรวจกันว่าเราจะปฏิรูปการเมืองอย่างไร จะเข้าสู่การเมืองได้อย่างไร มีระบบตรวจสอบอย่างไร การเมืองภาคประชาชน ท้องถิ่นจะเป็นอย่างไร เพราะทั้งหมดนี้คือปมเงื่อนของความขัดแย้งที่แฝงอยู่ในสังคมไทย

ประเด็นนี้คือการให้มีกรรมการปฏิรูปการเมือง โดยการสถาปนาโดยสภาผู้แทนราษฎรไทย ไม่อยากเห็นรัฐบาลแห่งชาติเพราะเป็นไปไม่ได้ และถ้าทำเสร็จรัฐบาลก็มีภารกิจบางอย่าง พอกรรมการปฏิรูปการเมืองปฏิบัติภารกิจเสร็จก็ทำการเลือกตั้งใหม่ ตามโครงสร้างทางการเมืองใหม่ ที่ทีระยะเวลาที่แน่นอน และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเข้าสู่กระบวนการการปฏิรูปการเมืองใหม่ จึงจะเดินไปได้

ประเด็นที่ ๕ ครั้งนี้เป็นครั้งที่สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ได้เข้าร่วมกับการเมือง แม้ไม่เลือกทั้งสองฝ่าย แต่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคม เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเข้าร่วมมือกัน เรียกร้องให้ทุกฝ่ายนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง เราต้องแสดงตัวออกมาว่า การเมืองไม่ใช่ของพันธมิตรและรัฐบาลแต่ต้องช่วยกันคิดกันทำ แล้วเราจะกำกับความรุนแรงได้ เราจะเปลี่ยนแปลงและยุติความรุนแรงได้ ทำอย่างไรให้เสียงของสถาบันเศรษฐกิจการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน ประชาชน ร่วมกันเพื่อช่วยกันเดินหน้า นำพาสังคมไปข้างหน้า ถ้าเราข้ามพ้นความรุนแรงได้ เราเปลี่ยนด้วยสันติวิธีได้ ประชาธิปไตยไทยเราจะพัฒนาก้าวใหญ่อีกก้าวหนึ่งที่สำคัญและมีความหมายต่อสังคมไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้แทนคณะรัฐศาสตร์ กล่าวเสนอแนะว่า

มี ๔ ประเด็น เป็นความเห็นส่วนตัวแม้จะเป็นผู้แทนรัฐศาสตร์ ๗๖ ปีนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย เราทราบว่าประชาธิปไตยไทยถูกขนานนามว่าล้มลุกคลุกคลาน เป็นแบบไทยๆ ที่เป็นครึ่งใบที่บกร่องหรืออ่อนแอผสมไปกับระบบรัฐสภา สิ่งที่สำคัญวันนี้คือกำลังเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ ทฤษฎีบอกว่าประชาธิปไตยคือเสียงของประชาชนเป็นใหญ่ แต่ที่ผ่านมาไม่ว่าต่างประเทศหรือไทย ก็ยังคงรู้สึกว่าผู้นำเป็นใหญ่หรือเป็นผู้ปกครองกำหนดชะตาของประเทศ ที่ผ่านมาสภาพการณปัจจุบันประชาธิปไตยตะวันตกประชาชนในประเทศเหล่านั้นก็ยังรู้สึกว่าผู้นำเป็นผู้กำหนดไม่ต่างจากผู้นำระบอบเผด็จการอำนาจนิยมในอดีตเท่าไรนัก วิกฤตที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากผู้นำทั้งชายและหญิงในอดีตทั้งสิ้น เป็นข้อสังเกตของศาสตราจารย์ คาร์ลลอดด์ ของสถาบันป้องกันราชอาณาจักรของสหรัฐอเมริกา เขาบอกว่าปัจจุบันผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองไม่มีสภาวะความเป็นผู้นำ โดยเฉพาะเมื่อต้องนำพาประเทศไปสู่ทางออกจากภาวะวิกฤต ปัญหาสำคัญสำหรับประเทศเราในภาวะเปลี่ยนผ่านนี้ ในสภาวะของประเทศแบบนี้ สภาวะผู้นำของเราคืออะไร ในยามที่เกิดสภาวะเปลี่ยนผ่านมีความสำคัญมากในการพาประเทศไปสู่สภาวะที่ดีกว่า แม้จะไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะประเทศมั่นคง ก้าวหน้ามากอย่างสวิส ญี่ปุ่น ทุกวันนี้ก็ยังหาผู้นำที่มีภาวะผู้นำที่ดีไม่ได้ แล้วไทยจะหาได้หรือไม่เพราะเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหานี้ ในความคิดของคนไทยผู้นำที่ดีและเหมาะสมนั้นเลือนราง ไม่แน่ใจว่าว่าผู้นำที่ดีที่เหมาะสมคืออะไร เข้าใจว่ามีผู้นำที่เป็นตำแหน่งทางการเมือง แต่ผู้นำนั้นจะคุณธรรมจริยธรรมความรู้ความสามารถหรือก่อให้เกิดความมั่นใจให้กับผู้ตามในยามวิกฤตหรือไม่ในยามวิกฤต เรามีผู้อยากดำรงตำแหน่งทางการเมืองมากมาย แต่ไม่มีผู้นำทำให้เรารู้สึกมั่นใจและคล้อยตามได้ ในยามสงบความเป็นผู้นำอาจไม่จำเป็นแต่ในยามวิกฤตนี้สภาวะผู้นำสำคัญมาก ต้องมีความสามารถนำพาประเทศจากวิกฤตได้

ประเด็นที่สอง คือ แรงกดดันต่อผู้นำมีค่อนข้างมาก นับตั้งแต่ ๑๙๖๖ เป็นต้นมา ผู้นำถูกผลักเข้าไปอยู่ใต้กรอบของกฎหมาย ไม่ใช่กรอบของตนเองและพรรคพวก การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญได้วางกรอบไว้ชัดเจนว่าผู้นำที่ดีควรต้องทำอย่างไร นับแต่ ๑๖๘๘ จอห์นล็อค เขียนงานสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยสำคัญของโลก ว่า ผู้นำยุคใหม่จะเจอกับสภาวะความกดดันต้องถูกคานอำนาจด้วยรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญจะเป็นตัวคั่นระหว่างผู้นำที่อ้างโองการแห่งสรรค์และอ้างเสียงประชาชนแล้วไม่ฟังเสียงส่วนน้อย ต้องพึ่งสถาบันการเมือง พรรคการเมืองที่เข้มแข็งมีพลวัตรที่ช่วยผู้นำบริหารบ้านเมืองในยามวิกฤต ผู้นำที่ดีต้องไม่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและพรรคพวก และไม่ขึ้นอยู่กับคนใดที่ไม่อยู่ในเมืองไทยแล้วไปอยู่ต่างประเทศ ต้องมีการตรวจสอบ ถ่วงดุล คานอำนาจระหว่างสถาบันเหล่านี้ด้วยกันเองและผู้นำต้องคงสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งหลาย ศาสตราจารย์ ฟูกูยามาว่า เขียนไว้ว่า ปัจจุบันสังคมมีพื้นทีเหลือน้อยมากสำหรับคนรุ่นเก่าที่ไม่ได้ทำตามกฎหมาย ที่ไม่ได้พึ่งพาสถาบันการเมือง ที่ไม่ได้ฟังเสียงของประชาชนส่วนน้อย คนรุ่นเก่าที่อยู่ในการเมืองจะแทบไม่มีพื้นที่เหลืออยู่ในสังคมใหม่ในปัจจุบัน สังคมใหม่จะเรียกร้องให้ผู้ดำรงตำแหน่งมีความรับผิดชอบต่อประเทศมากขึ้น จริงๆเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ รัชกาลที่ ๕ ใช้เวลา ๑๘ ปีก่อนจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการบริหาราชการแผ่นดิน ในการคานอำนาจกับขุนนาง หลังจากนั้นอีก ๕๘ ปีที่ ร.๖, ๗ ดำเนินการปรับปรุงสร้างกรอบใหม่ให้แก่ผู้นำต่อไป การวางกรอบใหม่สิ้นสุดลงใน ๒๔๗๕ เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐใหม่ แทนที่รัฐใหม่จะนำกรอบใหม่ไปพัฒนาปรับปรุงให้มีการตรวจสอบถ่วงดุล คานอำนาจให้มีความเข้มแข็งในระบบรัฐธรรมนูญนิยม กลับเอาอำนาจนิยมเข้ามาใช้ต่อถึง ๖๘ ปี ถึง ๒๕๔๐ ทำให้รัฐไทยเผชิญกับวิกฤตอย่างที่ไม่เคยมีนี้ จริงอยู่การนำเอารัฐนิยม อำนาจนิยมเข้ามาใช้ทำให้ไทยเผชิญกับลัทธิคอมมิวนิสต์ และแบ่งแยกดินแดนได้ แต่ทหารที่เข้ามาก็ทำให้กรอบใหม่ไม่พัฒนาไปไกล รัฐธรรมนูญ ๔๐ ทำให้เกิดการเมืองใหม่ขึ้นมาได้ ผู้นำที่ดีต้องไม่ใช่แบบฮิตเลอร์ ไม่ใช่ผู้นำมวลชนของเอเธนส์ ๔๐๐ ปีก่อนคริสต์กาลในเมืองเอเธนส์ เราได้เห็นผู้นำที่เล่นกับความหวังเล่นกับความกลัวของคนจนแล้วยึดอำนาจเพราะอ้างโองการแห่งสวรรค์ หรือในปัจจุบันนักเลือกตั้งในประชาธิปไตยใหม่ในรัสเซียในลาตินอเมริกา มีความหยิ่งยโสโอหัง เรียกร้องให้มีการปกครองโดยเสียงข้างมาก ด้วยความกระหายอำนาจจากการลงประชามติ การชนะเลือกตั้งแล้วปฏิเสธต่อเสียงส่วนใหญ่ ผู้นำเหล่านี้ไม่ใช่คนดีแต่มีความสามารถในการพูดสูง การโน้มน้าว เช่น มุโสลินี ที่ไม่มีความจำเป็นแต่ยังมีอยู่มากในปัจจุบัน

ประเด็นที่ ๓ ผู้นำที่ดีเป็นอย่างไร ผู้นำที่ดีต้องไม่ใช่ผู้นำประชามติ ไม่ใช้ผู้นำเสียงข้างมาก ผู้นำประชามติ ประชากรไทยมี ๖๕ ล้านคน ๔๔ ล้านคนไปลงคะแนน ๑๒ ล้านคนเลือกพรรคหนึ่ง อีก ๑๒ ล้านคนเลือกอีกพรรคหนึ่ง เสียงห่างกันประมาณ ๒ แสน เสียงข้างมากนั้นคือประมาณ ๑๘-๒๐ เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งหมดเท่านั้น เพราะฉะนั้นผู้นำที่ดีในประชาธิปไตยเสียงข้างมากเอาเข้าจริงๆก็ไม่ได้มากเท่าใดแต่ก็มากในระบอบในการกำหนดกฎเกณฑ์ของเรา ในอเมริกา ที่เป็นต้นแบบการปกครองแบบนี้ ศิลปะในการเมืองการปกครองก็จะต้องเป็นผู้นำที่ดีต้องเป็นผู้นำที่มีศิลปะในการเจรจาต่อรอง ไม่สามารถอ้างความชอบธรรมจากเสียงข้างมาก ๑๘ เปอร์เซนต์ปกครองเสียงส่วนใหญ่ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ได้ ในขณะที่ ๑๘ เปอร์เซ็นต์นั้นมาจากระบบเสียงเลือกตั้งที่สูงกว่าคนอื่น ดังนั้นผู้นำที่ดีรุ่นใหม่ในสังคมประชาธิปไตยรุ่นใหม่ต้องมีความสามารถในการรอมชอมปรองดอง การต่อรอง มีการตรวจสอบถ่วงดุลคานอำนาจแล้วยังต้องมีความสามารถในการฟังเสียงส่วนน้อยด้วย ไม่ใช่จะเอาเสียงส่วนประชามติ ๑๘ เปอร์เซ็นต์มาหักหาญน้ำใจหรือบังคับเสียงส่วนน้อย ๑๘ เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นผู้นำที่ดีต้องมีบารมี ความกล้าหาญ เสียสละ มีคุณธรรมจริยธรรม มีความสามารถ มีศิลปะในการนำ ซึ่งเป็นเรื่องที่เรียกร้องให้เกิดขึ้นได้ไม่ง่าย สิ่งที่ทำได้คงต้องสร้างแรงกดดันจากพวกเราภาคประชาชนเพื่อเรียกร้องให้ผู้นำเหล่านี้เป็นแค่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้ามาเป็นผู้นำซึ่งเป็นเรื่องยาก แต่ก็ยังสามารถวางกรอบเพื่อให้ผู้นำเหล่านี้เข้ามาสู่ระบอบเพื่อการเป็นผู้นำที่ดีได้เช่นการเคารพเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย กล้าหาญ เสียสละ ในที่สุดก็คือต้องสามารถต่อรองกับชนกลุ่มน้อยที่เรียกร้องด้วยความต้องการที่หลากหลาย ผู้นำต้องปรับตัวให้เข้ากับการเมืองใหม่ป้องกันให้รัฐปลอดภัยจากกลียุค การเมืองใหม่นี้มาถึงเมืองไทยแล้ว ๑๐๐ วันที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ ๒๕๔๐ ได้เปลี่ยนประวัติศาสตร์การเมืองไทยมากกว่า ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นผู้นำยุคใหม่ก็ต้องถูกเรียกร้องให้อยู่ในกรอบที่กล่าวมา

ประเด็นที่ ๔ คือ ทางออกไทยเฉพาะหน้าคงมีไม่มากถอยหลังไปอำนาจเผด็จการไม่ได้อีก แต่มีทางเลือก ๓ ทางคือแบบก้าวหน้า ถดถอยหรืออ่อนแอ ถ้าก้าวหน้าก็อยู่ใน ๔๐ % ของโลก คือประชาธิปไตยเสรีนิยมที่มีการตรวจสอบถ่วงดุล คานอำนาจ มีการเลือกตั้งที่เป็นธรรม มีสื่อมวลชนที่มีคุณภาพ ใช้เวลาหลายร้อยปีในการพัฒนา ต้องมีวัฒนธรรมทางการเมือง มีการเรียกร้องจากหลายฝ่าย ที่เหลือ ๖๐ เป็นแบบอ่อนแอถอย ในยามวิกฤตส่วนใหญ่ก็เอาระบบราชการที่เข้มแข็งเข้ามาช่วย ระบบราชการที่เข้มแข็งของไทยก็คือทหาร ซึ่งเช้านี้ผู้นำทหารยืนยันการแก้ต้องปรอดองจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ทหารต้องการให้ประชาธิปไตยไปแบบก้าวหน้าหรือเข้มแข็ง ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประวัติศาสตร์จะกลับมาใหม่ ถ้าผู้นำไม่สามารถเป็นผู้นำที่ดีได้เป็นเพียงแต่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ชายและหญิงในวงการทหารเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้มีหน้าที่ในการประชาธิปไตย เราไม่ได้เรียกร้องให้มีการปฏิวัติรัฐประหาร แต่ดูทีท่าของรัฐประหารไทย เหมือนว่าความต้องการนั้นจำเป็นต้องให้ผู้นำทางการเมืองลดความจำเป็นเหล่านั้นลง ในเรื่องเฉพาะหน้าไม่มีทางออกยกเว้นให้ผู้นำเหล่าทัพมาแก้วิกฤตแทนที่จะคิดถึงแต่เรื่องผู้นำในสภา คิดแต่เรื่องตำแหน่งอำนาจหน้าที่และผลประโยชน์ และไม่คำนึงถึงกิจการนอกสภา กิจการในสภาทีความมั่นคง ๓๐๐ กว่าเสียงแนบแน่น จนอาจมองไม่เห็นภายนอก เราทำอะไรไม่ได้มากกว่าเรียกร้องกดดันให้ผู้นำแก้ไขปัญหาโดยแนวคิดกรอบใหม่ของประเทศในระบอบประชาธิปไตย ระยะปานกลางหลังวิกฤตต้องหันไปดูการเลือกตั้งที่เป็นธรรม บริสุทธิ์ยุติธรรมและหลากหลายมากกว่านี้ เราอยู่โดยไม่ฟังเสียงส่วนน้อยไม่ได้ ต้องหันมาพัฒนาสถาบันการเมืองให้รองรับความต้องการคนชนบท พร้อมๆกับคนในเมือง (คนกลุ่มใหม่) เราไม่ได้บอกว่าพันธมิตรเป็นตัวแทนของคนกลุ่มใหม่ แต่ต้องจัดให้คนเหล่านี้เข้ามาสู่การมีส่วนร่วมทางการเมือง ระยะยาวถ้าคนเหล่านี้เข้ามาสู่ระบอบ ประเทศไทยจะกลับเข้าสู่ประชาธิปไตยแบบก้าวหน้าไม่ใช่ถดถอยและอ่อนแอ

นายสุริชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง ตัวแทนเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

วันนี้ปัญหาการเมืองพัฒนาไปสู่ปัญหาของสังคมและเศรษฐกิจแล้ว ธุรกิจที่ไม่มี CSR จะติดต่อค้าขายกับผู้คนไม่ได้เพราะไม่ยอมรับ รัฐสนับสนุนให้ธุรกิจมี CSR วันนี้ธุรกิจต้องการเรียกร้องต่อรัฐเช่นเดียวกัน คือ เราเห็นว่าปัญหาการเมืองก่อให้เกิดปัญหาสังคมเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รัฐที่เป็นเช่นนี้ก็ต้องไม่ได้รับการยอมรับ หรือติดต่อทางธุรกิจเช่นกัน เป็นที่มาของข้อสังเกตว่า ตอนนี้ ถ้าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่เกิดขึ้น ถ้านักการเมืองไม่เปลี่ยนแปลงในหลายวันนี้ อะไรจะเกิดขึ้น สังคมเผชิญหน้ากันระหว่างพันธมิตรและรัฐบาล ฝ่ายรัฐบาลมีกลุ่มคนสนับสนุนอยู่ในนาม นปก.

การเผชิญหน้าก็เป็นไปแล้ว ยังมีฝ่ายตรงกลางที่ยังไม่มีความเห็นชัดเจน หรือมีความเห็นเป้าหมายเช่นพันธมิตรแต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการบางเรือง ก็ไม่เข้าไปชุมนุม แต่ตอนนี้ช่องว่างเกิดขึ้นแล้ว ถ้ารัฐบาลไม่ใช้ช่องว่างของการเปลี่ยนแปลงนี้คนที่อยู่ตรงกลางจะทนไม่ได้และไปรวมตัวกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แล้วโตขึ้น โอกาสปะทะจะเกิดขึ้น เป็นห่วงสงครมกลางเมือง อดีตเป็นฝ่ายประชาชนและรัฐบาล แต่ตอนนี้อาจกลายเป็นสงครามการเมือง และนำไปสู่รัฐประหารแบบเดิม แล้วระบบเดิมหรือระบอบทักษิณ เพราะชื่อไม่จีรังแต่ปัญหานั้นจีรัง ปัญหารอบใหม่ก็จะเกิดขึ้น เครือข่ายเรียกร้องนักการเมืองขอให้เปลี่ยน ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง เสียงเรียกร้องต้องดังขึ้น พลังเงียบจะต้องส่งเสียงดังขึ้น พลังเงียบส่วนใหญ่คือประชาชน และพลังเงียบของธุรกิจที่เงียบมาตลอดต้องช่วยกันส่งเสียงให้นักการเมืองเปลี่ยนวิธีคิด ไม่ใช้คิดในด้านการรวมกลุ่มแล้วใครได้ใครเสียอะไร จะต้องมีใครเสียสละ  ต้องมีการเปลี่ยนวิธีคิด เพราะถ้าจับขั้วเหมือนเดิม เปลี่ยนตำแหน่ง แรงกดดันไม่ลดลง นี่คือข้อเรียกร้องที่นักการเมืองต้องเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อลดแรงกดดันของสังคม นำไปสู่การเรียกร้องของเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

๑.ใช้กลไกทางรัฐสภาและระบบยุติธรรมในการแก้ไขปัญหาของชาติ โดยคำนึงถึงเงื่อนไขทางจริยธรรมและคุณธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเคร่งครัด

๒. ขอให้สภาผู้แทนราษฎรใช้วิจารณญาณในการเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปในทางสร้างสรรค์ไม่ใช่เพียงสลับตำแหน่ง แม้จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นทีประจักษ์ว่าส่วนผสมของรัฐบาลเดิม ไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

๓.ให้รัฐบาล ทหารและตำรวจ และผู้ชุมนุมทางการเมืองทุกฝ่าย เห็นความสำคัญของทุกชีวิต มีความอดทนอดกลั้น ไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

๔. เรียกร้องพลังเงียบแสดงออกทางความเห็นด้วยสันติวิธีตามระบอบประชาธิปไตย เพราะสถานการณ์ได้บ่งชี้ว่าการปล่อยให้นักการเมืองที่ขาดจริยธรรมมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาบริหารประเทศก่อให้เกิดปัญหาทั้งสังคมเศรษฐกิจ ขอให้พลังเงียบทั้งธุรกิจ ราชการ ประชาชน ใช้วิจารณญาณในการติดตามข่าวสาร มีความกล้าหาญในการกล้าแสดงออกด้วยสันติวิธีตามหลักประชาธิปไตย เพื่อสื่อสารให้นักการเมืองได้เห็นถึงความต้องการของประชาชนที่แท้จริง

ศาสตราจารย์ ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์

ทางเศรษฐกิจ ปัญหาที่สำคัญคือการคอรัปชั่น เพราะสังคมไทยยอมรับและแก้ไขปัญหาไม่ได้ การเมืองสะอาดไม่มี จะทำอย่างไร เป็นต้นทุนที่สูงมากทางธุรกิจ เศรษฐกิจและการเมืองเป็นเรื่องที่มืดมนไปด้วยกัน วันนี้เป็นปัญหาของสังคมไทยที่ไม่มีการแก้ไขมานาน พรก.ฉุกเฉินดูเหมือนสร้างปัญหามาก แต่จริงๆแล้วเป็นตัวบอกว่าเรามีต้นทุนที่เห็นได้ชัดๆ แต่เรามีต้นทุนที่สูงกว่านี้มากในแง่ภาพลักษณ์ประเทศในแง่การจัดสินใจที่ผิด อดีตเราไม่เห็นชัดว่าเกี่ยวกัน แต่วันนี้เราเริ่มเห็นแล้วว่าการเมืองทำร้ายเศรษฐกิจค่อนข้างมากด้วย ปัญหาคือต้นทุนที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงผู้รับภาระคือประชาชน แล้วใครได้ประโยชน์ การต่อสู้ทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ารุนแรงน่าจะหมายถึงผิดปกติ เป็นปัญหาพัฒนาของประชาธิปไตยของเรา ยิ่งเลือกตั้งเรากลับมีเผด็จการมากขึ้น ประชาธิปไตยแย่ลงเมื่อเลือกตั้งแล้วเสียงได้น้อย ในที่สุดก็คือไม่ได้อะไรเลย เลยไม่รู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไรกันแน่ สังคมไทยวันนี้สับสนมาก บางคนเข้าใจว่าประชาธิปไตยหมายถึงการเลือกตั้ง บ้างก็ว่าหมายถึงการตรวจสอบ เรากำลังหาจุดสมดุล หรือกำลังแตกของระบบ ต้องช่วยกันคิด การเมืองไทยแบบนี้มันเป็นเผด็จการแบบผ่านรัฐสภา ซึ่งทำให้เกิดความสับสนมากขึ้น เมื่อเกิดเผด็จการรัฐสภาเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข ทำให้พลังนอกสภาเกิดขึ้นได้ ถ้ามีแรงกดดันบางอย่างเกิดก็จะมีแรงเข้ามาตอบโต้กัน เป็นปัญหาที่ระบอบประชาธิปไตยกำลังพัฒนาและคนไทยต้องเรียนรู้กัน ถ้าบริหารความขัดแย้งไม่ได้หรือคิดว่าการบริหารความขัดแย้งอยู่บนกระดาษจะทำอย่างไร พลังเข้าไปเปลี่ยนแปลงค่อนข้างตัน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นตัวอย่าง ว่าเมื่อบอกว่าสิ้นสุดแต่เริ่มไม่สิ้นสุด มีช่องโหว่ทางลายลักษณ์อักษร ช่องโหว่ทางความคิดไม่มีแน่เพราะทุกคนรู้ว่าสิ้นสุดหมายถึงอะไร ไม่ได้หมายว่า ๑หรือ๒ วัน ถ้า ๑ สมัยเลือกตั้งก็ยังน่าคิด สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะการเมืองไทยเป็นการเมืองเผด็จการ เป็นปัญหาที่ผมไม่รู้ทางออก หรือแก้ได้ เพราะคนที่ตัดสินใจคือคนที่ถืออำนาจรัฐที่เราทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ขอร้องกัน ในแง่การต้อสู้ของพลังนอกสภากับอำนาจนิยมในสภามาถึงจุดที่แหลมคมมากๆ ถึงมีคนถามว่าอะไรจะเกิดขึ้นซึ่งไม่มีใครรู้ แต่คิดว่าฝ่ายมีอำนาจมั่นใจและพอรู้ว่าสามารถลากไปได้นานที่สุดพอสมควรและหวังว่าพันธมิตรท้ายสุดจะหมดแรง เงิน ท้อถอย การปราบปรามจึงมาคิดอีกทีว่าจะทำได้หรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สังคมไทยเป็นสังคมน่าเป็นห่วง เราไม่คุยกันเรื่องความซื่อสัตย์ เราจึงหาความซื่อสัตย์ไม่ได้ บางคนว่าผิดหมดไม่ได้เท่ากับถูก เราต้องแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ไม่ได้อยู่ในมือเรา พลังนอกสภาจึงต้องเรียนรู้และต่อสู้กับในสภา ไม่อยากเห็นความรุนแรง คิดว่ารัฐบาลประเมินสวยหรูเกินไป ไม่ได้สู้กับวัตถุแต่สู้กับคน อยากให้ช่วยกันติดตามมีส่วนร่วมลดความรุนแรง อยากเห็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เร็วๆจบทันทีไม่มี ควรยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน ยกเลิกข้อหากบฏ พันธมิตรจะปรับตัว รัฐบาลต้องตั้งคนที่แก้ไขปัญหาประชาชนไม่ใช่ส่วนตัว แก้รัฐธรรมนูญ นโยบายเศรษฐกิจต้องไม่เป็นไปเพื่อการสร้างฐานเสียง เพราะจะทำให้เกิดความร้าวฉานมากขึ้น การวินิจฉัยของศาลเหมือนช่องให้รัฐบาลตั้งสติคิดว่าอะไรถูกผิด พรรคร่วมก็เช่นกัน โดยหน้าที่รัฐบาลถ้าตามครรลองต้องรับฟังประชาชน รับผิดชอบไม่ใช่รับชอบอย่างเดียว ต้องลดความโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงให้ได้ รัฐบาลไม่ได้อยากได้คำเตือน ชัยชนะทางการเมืองไม่ได้อยู่ที่เสียงมากหรือน้อย แต่อยู่ที่ทำเพื่อประโยชน์ของส่วนตนเองหรือไม่ ถ้ามีอาวุธมีอำนาจแล้ว อาวุธอำนาจนั้นไปใช้เพื่อส่วนตัวก็คือเศษกระดาษ ไม่สามารถรักษาอำนาจของตนเองได้

รองศาสตราจารย์ ดร. ยุบล เบญจรงค์กิจ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ เสนอแนะว่า

ประเด็นที่สนใจคือการสื่อสารและสื่อ คนอื่นที่อยู่รอบข้างมีทั้งคนนี้ดีคนนั้นเลว นักการเมืองเลวหมด ทำไมคนไทยขาดศักยภาพในการคิดวิเคราะห์ ตัดสินว่าจะเลือกข้างใด ปัญหานี้หนักกว่าการมีนักการเมืองไม่ดี พื้นฐานที่มาของปัญหา ถ้าสับสนตัดสินใจไม่ได้ เขาไม่ได้เลือกคนที่เหมาะสม ขาดข้อมูล ตามมาคือปัญหาในวันนี้ ประชาชนไกลปืนเที่ยงต้องอยู่รอดไปวันวัน การเลือกตั้งหมายถึงการเสียเวลา ๑ วัน จึงต้องเลือกคนที่เอาเงินมาให้ เมื่อมีนักการเมืองกลุ่มหนึ่งมาสนใจคนกลุ่มนี้เขาก็จะรู้สึกดี อีกกลุ่มหนึ่งคือชนชั้นกลาง เลือกเพราะอยากเห็นเข้าไปอยู่ในสภา อีกกลุ่มหนึ่งคือพลังเงียบไม่มีความหวัง ถามว่าเมื่อไหร่เมืองไทยจะสงบเสียที เพราะความสงบที่แท้จริงเป็นเรื่องยาก สังคมประชาธิปไตยต้องประกอบขึ้นด้วยความขัดแย้ง ต้องเปิดโอกาสให้คนได้แสดงความคิดเห็น แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ และต้องยอมรับว่าคนอื่นคิดต่างกับเราได้ เมื่อเรารับแนวคิดปชต.มาจากตะวันตก เราไม่ได้เอาแนวคิดมาด้วย เราเอาแบบไทยๆมาใช้เป็นเรื่องของความผิดถูกแพ้ชนะพอมีตรงนี้เข้ามาเป็นเรื่องของการยอมกันได้ยาก เพราะพอมีแพ้เกิดขึ้นกลายเป็นเสียหน้า ถ้าเรารับมาต้องรับมาให้หมด ไม่ใช้น่าอับอาย เช่น ฮิลลารี แพ้ก็ทิ้งอารมณ์ที่เป็นปฏิปักษ์และสนับสนุนว่าพร้อมที่จะเป็นผู้สนับสนุน บ้านเราไปไม่ถึงเอาอารมณ์เข้ามาตัดสิน อยากวิงวอนสื่อ เพราะมีอิทธิพลในการสร้างวัฒนธรรม เพราะการสอนในโรงเรียนอาจไม่ทันการ กว่าจะพัฒนาจนมีรากฐานปชต.ไม่ทันการ อยากให้สื่อเป็นตัวแทนสร้างวัฒนธรรมใหม่ ด้วยการไม่ซ้ำเติมคนที่แพ้ สื่อต้องลดบทบาทการสร้างความรู้สึกว่าแก้ไม่ได้หรือน่าอับอาย การต่อสู้ทางปชต.ต้องเรียนรู้อีกมาก เราต้องให้โอกาสปชต.ว่าใครจะมีบทบาทตรงนี้ได้ เห็นด้วยว่าสื่อต้องเลือกที่จะอยู่กับความถูกต้อง สื่อต้องแยกแยะได้ดีกว่าชาวบ้าน และต้องตัดสินใจให้ประชาชน สื่อจะเป็นคนบอกว่าใครทำถูกหรือผิด ต้องตัดสินใจให้ว่าพฤติกรรมนี้ใครถูกหรือผิดได้ ที่สำคัญคืออย่าบอกว่าทุกคนเลว ต้องแยกแยะความผิดใดรุนแรงกว่ากันเช่น คอรัปชั่น กับความผิดช้า รุนแรงหรือเลวไม่เท่ากัน ขอให้สื่อช่วยเพราะสื่อมีอำนาจและมีอิสระในการนำเสนอ ในนามของคณะนิเทศศาตร์ สื่อจะเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชนได้

ม.ร.ว. สุพินดา จักรพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการด้านสังคมและเศรษฐกิจ

อยากถามนักกฎหมายว่าจะใช้อะไรเป็นที่พึ่งได้บ้าง

เราทำสื่อเพื่อให้ความรู้ การศึกษา ปชต. ความปลอดภัยให้แก่เด็กและครอบครัว ต้องช่วยกันวิเคราะห์ปัจจุบัน ว่าจะนำไปสูอนาคตของเด็กได้อย่างไรเพราะจะเป็นผู้ใช้ปชต.นี้ต่อไป

โจทก์คือปชต.จะรอดได้อย่างไร (ถ้าผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมาใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตนเอง) ปชต.ในอนาคตควรเป็นการที่ทุกคนเข้ามาเพื่อรับใช้ประชาชนจากการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย จะอยู่รอดได้ด้วยการเรียนรู้ เสียสละ ลำบาก อดทน รู้จักปฏิเสธ ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วในการเสียสละของพันธมิตรที่ปฏิเสธผู้นำที่ใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม นี่คือกลไกของปชต. และเราต้องเดือดร้อนเล็กน้อย แต่ต้องมีกลไกที่ถูกต้อง ทำไมจึงเป็นปัญหา ถ้าประเทศอื่นจะรีบลาออก แต่ของเราไม่ลาออก และผู้ที่อยู่ห่างไกลข้อมูลยังไม่สามารถรับรู้ข้อมูลจากผู้ประท้วงได้ ว่าเหตุใดจึงต้องลำบาก เราต้องดูประชาชนที่ยังไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง อยากพูดแทนพี่น้องที่ไม่สามารถเข้าถึงสื่อได้ สื่อไม่ได้เป็นกลางที่ให้ข้อมูลได้ถูกต้องชัดเจนต่อพี่น้องต่างจังหวัด รัฐบาลนี้ก็พยายามช่วยเหลือ แต่ยังไม่ได้ทราบว่าถ้าจริงใจเขาจะต้องได้รับการช่วยเหลือที่ยั่งยืน เราต้องเข้าใจและไม่มองว่าคนไหนฉลาดและโง่ ไม่เช่นนั้นจะแตกแยก ไม่มีใครดีและเลว ถ้าเราตั้งจิตอยู่ที่ประเทศชาติก้าวหน้า ยาวนาน ถาวร ถ้าเราคุยกันได้ขั้วต่างๆจะหายไปเพราะคนที่สำคัญคือคนในประเทศเรา ถ้ามีคณะที่ประท้วงทุ่มเทร่างกาย จิตใจต้องลดละอัตตา ด้วยความเข้าใจเห็นใจพี่น้องที่ยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจน ต้องไปศึกษาข้อมูลที่ถูกต้องไปนำเสนอ ขอให้สื่อต้องรักษาศักดิ์ศรีและใช้อิสรภาพทางด้านความคิดได้ เพราะตอนนี้บ้านเมืองเกิดวิกฤติแต่เป็นการเรียนรู้ที่ต้องเกิดตามแบบไทยๆ กรณีนายกไม่ควรดำรงตำแหน่งอีกต่อไปเรามีกลไกอะไรที่จะต้องเดินต่อไป ต้องใช้จิตวิญญาณแบบไทยว่าประเทศเราจะปลอดภัยอย่างไรต่อไป เมื่อเรามีโจทก์ใหม่เราต้องเดินต่อไปให้ถูกต้องสอดคล้อง อย่างไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน วันนี้คณะรัฐมนตรีแสดงวิญญาณการรักประเทศชาติด้วยการลาออกอย่างมีจิตสำนึกเนื่องจากผู้นำต้องออกจากตำแหน่งแล้ว เพื่อให้ประเทศคลี่คลาย ร่วมกันคิดให้เกิดทางออก โดยมีพันธมิตรที่ลดความก้าวร้าว และร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว และยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน บทเรียนวันนี้เป็นบทเรียนในอนาคต ทำอย่างไรเราจึงจะมีกลไกป้องกันไม่ให้คนทำงานการเมืองที่มาอย่างถูกระบอบใช้อำนาจไม่ชอบธรรมในอนาคต

นายมนตรี สอนไพศาล ผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการด้านสังคมและเศรษฐกิจ

เราอย่าตกหลุมพราง จากคนที่อยากให้เกิดการแบ่งข้าง เล่ห์กลนี้เป็นการกลบเกลื่อนความเป็นจริง มีข้างเดียวที่ปลูกฝังให้เลือกคือข้างของความสว่าง ถ้าไม่แน่ใจว่าอะไรคือมาตรวัดความจริง คือรักพระเจ้าสุดจิตสุดใจคือรักแผ่นดิน และรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเองคือไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอาประโยชน์ของรัฐมาเป็นของส่วนตัว คุณสมบัติผู้นำมีส่วนในการกำหนดทิศทางของประเทศ

เราต้องการนายกที่มีจิตประชาธิปไตย ฝักใฝ่ความดี มีความรัก และเป็นศักดิ์ศรีของคนไทย

๑. การมีจิตประชาธิปไตย ประชาธิปไตยอ่อนแอเพราะคนที่รับประโยชน์จากปชต.ไม่รักษาหลักธรรมที่แท้จริง ต้องให้เกียรติประชาชนทุกคนทุกฝ่าย มนุษย์มีเกียรติไม่มีใครจะกำหนดให้คิดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สื่อมวลชนมีบทบาทอย่างมาก มีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าอย่างยิ่ง ในสถานการณ์นี้สื่อต้องให้ความเป็นกลางและความคิดที่นำหน้าประชาชน ในช่วงหลายเดือนต้องตั้งคำถามว่าผู้นำของเราบริหารประเทศด้วยใจประชาธิปไตยหรือเผด็จการ กลุ่มคนที่ออกมาชุมนุมกันอาจผลัดกันพักผลัดกันมาบ้างเพราะเหนื่อย ได้สะท้อนเข้าไปในจิตใจไหมว่าทำไมเขาไม่ร้อนไม่เหนื่อย ในขณะที่เลือกตั้งมาไม่มีใครว่า แต่เมื่อจะแก้รัฐธรรมนูญได้สื่อความไหมว่าจะทำอะไรอย่างไร สิ่งที่น่ากลัวของการบริหารประเทศ คือการใช้อำนาจเยี่ยงเผด็จการ เช่น เผด็จการที่มีการฆ่า และมีการปกปิดผ่านสื่อ สื่อเป็นเรื่องสำคัญ เราจะเป็นปชต.อย่างไรถ้าเราไม่ให้เกียรติและให้โอกาสกับสื่อ

๒. การฝักใฝ่ความดี สังคมไทยเป็นศรีธนญชัย สร้างเอกสารขึ้นมาต่อสู้ได้ ทำเอกสารทีหลังโอนหุ้น ๗๐๐ ล้าน ให้ลูกรับโอน มีการใช้นโยบายรัฐไปส่งผลประโยชน์ต่อครอบครัว นี่เป็นคำถามที่ใช้วิธีคิดแบบศรีธนญชัย ทำให้สังคมเกิดอาการยอมรับไม่ได้ นายกเป็นศักดิ์ศรีของประเทศ ต้องโปร่งใสได้

๓. การมีความรัก คือต้องมองประชน เหมือนที่ในหลวงทำตลอดมา ต้องเปิดเผยและให้เห็นถึงเจตนาดีของกันและกัน

๔. ความเป็นศักดิ์ศรี ถ้าผู้นำไปโต้ตอบนักข่าวต่างประเทศ ต้องนึกถึงศักดิ์ศรีของประเทศด้วยศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาแล้วก็ยังละเลยความถูกต้อง ทำหลักฐานเท็จขึ้นเพื่อบิดเบือน

ขอเรียกร้องว่า ประเด็นนายกเราต้องการนายกที่มีจิตใจประชาธิปไตย ฝักใฝ่ความดี มีความรักและเป็นศักดิ์ศรี

อาจารย์ ดร.สุเนตร ชุติธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา

นิยามปชต.ไทย เป็นอย่างไร หน้าตาเป็นอย่างไร จุดยืนอยู่ที่ไหน ก่อน ๒ – ๓ ปี ภาพค่อนข้างชัดเมื่อนึกถึงการต่อสู้เดือนตุลา ที่ต่อสู้เพื่อปชต. ที่ชัดเจนอยู่ตรงข้ามกับเผด็จการ อำนาจที่ไม่ได้ด้วยมาด้วยกระบอกปืนคือ ปชต. แต่ภาวะนี้คือการต่อสู้ของกลุ่มคนที่อ้างตนว่าเป็นผู้พิทักษ์ประชาธิปไตยทั้งสิ้น แม้แต่อดีตนายกก็อ้างและประกาศใช้พรก.ฉุกเฉิน เรามีกลุ่มพันธมิตรชื่อของกลุ่มก็อ้างปชต. แต่ก็มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ทหารเคลื่อนไหว มีเสนอสูตร ๗๐ ๓๐ มีพรรคการเมืองที่ปกครองประเทศตามอำเภอใจ อยากแก้รัฐธรรมนูญก็แก้ มันเป็นปชต.ตอนไหน มีเพียงทหารกลุ่มเดียวที่ไม่อ้าง แต่ก็พยายามไม่ทำอะไรที่ไปสู่เผด็จการ ดูคล้ายกับปชช.เป็นเพียงข้ออ้าง เพื่อความชอบธรรม เพื่อได้ใช้อำนาจ เพื่อเรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการโดยไม่คิดว่าขุดต่อปชต.หรือไม่ เราเข้าใจปชต.มากน้อยเท่าไร

ปชต.มีองค์ประกอบ ๒ ประการ คือ เป็นระบบการเมืองการปกครอง ประการหนึ่ง และอาจเป็นวิถึแห่งความดำรงอยู่ เป็นระบบวิธีคิดที่แทรกอยู่ในชีวิตประจำวัน หลักการคือผู้ที่มีหัวใจประชาธิปไตยต้องคิดถึงสิทธิของตัวเองแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเคาระในสิทธิของผู้อื่นพร้อมกันไปด้วย ๗๖ ปีที่เราปลูกฝังเป็นเพียงปชต.รูปแบบที่รู้ว่าต้องเลือกตั้ง แต่ขาดการพัฒนาด้านจิตวิญญาณ ดังนั้นฝ่ายรัฐ ตรงข้ามแสดงสิทธิ์แต่ไม่ได้บอกว่าคนอื่นมิสิทธิอะไรบ้าง นัยสำคัญต้องปลูกฝังจิตสำนึกปชต.เพื่อพัฒนาให้สมบูรณ์แบบ ไม่ทันต่อการแก้ปัญหาปัจจุบัน แต่ปัญหาปัจจุบันสั่งสมมาจากอดีตจนถึงผลึกปัญหาใหญ่ แก้ไม่ได้ด้วยเวลาสั้นและฉันพลันทันที ต้องยอมรับว่าการรักษาปชต. ต้องทุกยากด้วยเหมือนกัน แต่ไม่ใช้ความรุนแรง การพัฒนาปชต.ของหลายชาติก็ต้องผ่านความลำบากเช่นกัน จุดยืนส่วนตัวคือ ปชต.เป็นกติกาสากล เราจะเดินตามกติกาสากลคืออำนาจมาจากประชาชนหรือไม่ จึงไม่เห็นด้วยเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ เมื่อเราได้การเลือกตั้งเราได้ตัวแทนที่มาใช้อำนาจไม่เป็นธรรม เราต้องหากลไกไม่ขัดหลักปชต. มาถ่วงดุลอำนาจได้ ตุลาการภิวัฒน์เป็นความก้าวหน้าที่ถ้วงดุลอำนาจบริหารได้ การเคลื่อนไหวประชาชนก็ถ่วงดุลได้ แต่ผู้ที่ทำต้องมีสำนึกปชต.ด้วย ปชต. เป็นเรื่องของการศึกษาที่ต้องปลูกฝัง ยากที่จะบอกว่าปชต.ไม่เหมาะสม เราถอยหลังไม่ได้ต้องหากลไกจัดการกับมันแทน

อาจารย์เตือนใจ ดีเทศน์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการด้านสังคมและเศรษฐกิจ

ต้องขอชื่นชมกับแถลงการณ์ที่ประชุมผู้บริหารจุฬาฯซึ่งเมื่อดูร่วมกันกับแถลงการณ์ของกลุ่มเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้วจะมีความคล้ายกันอยู่ แต่มีเพิ่มเติมที่ขอให้พลังเงียบได้แสดงออกด้วยสันติวิธี โดยในแถลงการณ์ผู้บริหารจุฬาฯข้อ 4 ที่บอกว่าถ้ารัฐสภาไม่สามารถแก้ไข

 

ประเด็นแรกคือ ปัญหาได้ก็ให้คืนอำนาจคือเสนอให้ยุบสภา ต้องรอดูว่าที่ประชุมสภาพรุ่งนี้จะมีผลอย่างไร และสิ่งที่น่าจะเรียกร้องเพิ่มจากผู้บริหารจุฬาและนักธุรกิจคือ ให้ยกเลิกพรก.ฉุกเฉินทันที ซึ่งทุกฝ่ายคงจะเห็นตรงกันว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายใดเลย แม้ในสายต่างชาติก็ตาม เรามักจะติดอยู่กับรูปแบบประชาธิปไตยว่าหมายถึงการเลือกตั้งและผู้ชนะและได้เสียงข้างมากคือผู้ที่ชนะและได้อำนาจมาจากประชาชน แต่การละเลยสิทธิของผู้มีเสียงข้างน้อยกว่า จากการเลือกสมาชิกอบต.เมื่อเร็วๆที่ผ่านไปเราต้องให้ความสำคัญเพราะการเมืองระดับชาติของพรรคใหญ่ที่มีอำนาจลงไปจัดตั้งหมดแล้ว ดังนั้นทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งคือมีความขัดแย้งเกิดขึ้น บางหมู่บ้านทางการมีหย่อมบ้านที่เป็นร้อยๆหลังคาเรือนต้องไปขึ้นกับผู้ใหญ่บ้านอีกหมู่บ้านหนึ่ง หลายหย่อมบ้านไม่มีตัวแทนของตนเข้าไปเลย คนในกรุงเทพต้องมองถึง เพราะนี่คือประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน เพราะจะมีกลไกรัฐเข้าไปสนับสนุนหมู่บ้านจากผู้มีอำนาจทั้งหลาย คือกองทุนต่างๆ จะตั้งอยู่ในหมู่บ้านของผู้ใหญ่บ้าน หย่อมบ้านอื่นๆก็จะได้รับงบประมาณที่ไม่ทั่วถึง การเรียกร้องเกือบทุกแห่งคือคนจนจริงไม่ได้เข้าถึงเพราะไปผ่านกลไกการเลือกตั้ง อีกเรื่องคืองบที่ไปผ่านสส. เพราะงบที่ผ่านมือสส.52 ได้ทราบว่างบจังหวัดต้องแบ่งให้สส.ครึ่งหนึ่ง หน่วยงานจึงเกรงใจสส. เพราะสส.เข้าไปก้าวก่ายในงานบริหาร คนต้องเกรงใจสส. เพราะนิติบัญญัติก็กลายเป็นฝ่ายบริหาร สส.ที่สังกัดพรรครัฐบาลต้องยกมือสนับสนุนเสมอไปแม้รัฐธรรมนูญกำหนดให้สส.มีอิสระในการตัดสินใจก็ตาม ดังนั้นจึงต้องทบทวนว่าการเลือกตั้งคือได้คนเป็นผู้แทนเท่านั้นหรือ แล้วเสียงของคนที่เป็นเสียงข้างน้อยกว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาอยู่ที่ไหน

           ประเด็นที่สองคือ ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ ประชาชนไทยยังไม่ได้ทำหน้าที่พลเมืองที่เข้มแข็ง เพราะเรามักใช้สิทธิไปเลือกตั้งเท่านั้น แต่การติดตามตรวจสอบว่าผู้ที่เราเลือกไปทุกระดับได้ทำหน้าที่โดยสุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือเป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและสส.ในพรรคเท่านั้น เราจะไม่ได้ทำหน้าที่การตรวจสอบให้เหมือนตราชั่งที่มี 2 ด้าน ตอนนี้เรามีตราชั่งด้านเดียวที่เอียงโดยอ้างว่าประชาชน 19 ล้านคนเลือกมา แล้วประชาชนที่ไม่ได้เลือกมาทำหน้าที่อะไร ดังนั้นเราต้องทำหน้าที่ให้ความรู้ข้อมูลเรื่องหลักการประชาธิปไตย พัฒนาหลักประชาธิปไตยแบบไทยๆของเราซึ่งลดความขัดแย้ง เช่น ชุมชนชาวเขาในอดีตไม่ต้องมีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน มีแต่ผู้อาวุโส ที่มีคุณธรรมศีลธรรม เป็นคนที่ทุกคนหมู่บ้านเชื่อถือ เวลาเกิดปัญหาก็ใช้การไกล่เกลี่ย ทฤษฎี win-win แบบไม่มีใครแพ้แต่ตกลงกันได้โดยไม่ขัดแย้ง แต่พอปชต.เข้าไปมีความขัดแย้งเกิดขึ้นไม่ว่า ผู้ใหญ่บ้าน หรืออบต. จึงมีความเชื่อว่าเราไม่ควรใช้สูตรสำเร็จรูปของประชาธิปไตยที่ทั่วโลกเชื่อว่า การเลือกตั้งเท่านั้นคือคำนิยามของประชาธิปไตย แต่สิทธิการทำหน้าที่เป็นพลเมืองของทุกคนในการตรวจสอบ คานอำนาจทุกวิถีทาง โดยเฉพาะการใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตน การกระจายงบประมาณไปสู่พื้นที่ของหัวคะแนนของตนเท่านั้น เช่นเบี้ยยังชีพ ก็ไปสู่พื้นที่หัวคะแนน ทุกอย่างเป็นไปด้วยกลไกในการจัดตั้งของระบบเลือกตั้งทั้งสิ้น เมื่อมาดูคำว่าการปฏิรูปการเมืองใหม่ที่เราเข้าใจว่าผิด 70:30 แต่ที่จริงเป็นการทบทวนว่าประชาธิปไตยที่ทำให้พลเมืองทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน มีการตรวจสอบถ่วงดุลคานอำนาจให้สุจริต โปร่งใสทุกระดับ คือปชต.ที่แท้จริง และอยากเห็นมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาทุกแห่งเอาใจใส่ต่อสถานการณ์และชี้ทางออกให้แก่สังคม เช่นที่เคยจัดงานสัมมนาว่า นโยบายสังคมต้องมาจากคำตอบของงานวิจัยของสังคม เพราะเป็นหลักพื้นฐานของความรู้ที่อ้างอิงได้ ที่ตั้งอยู่บนองค์ความรู้ซึ่งเป็นภูมิปัญญาและหลักศีลธรรมของพวกเราทุกคน

 

รองศาสตราจารย์ ธิติพันธ์ เชื่อบุญชัย คณบดีคณะนิติศาสตร์

ประเด็นเรื่องปชต.จะรอดหรือไม่ อย่างไร เราคงต้องยอมรับว่าเราเดินไปในลักษณะนี้ไม่ได้ เพราะพรุ่งนี้ประชุมสภาแล้วเลือกสมัครมาเป็นนายกอีกรอบ แล้วพันธมิตรก็ไม่ยอมออก รูปแบบอย่างนี้จะไปไม่รอด เราต้องทบทวนกันใหม่เราต้องคิดนอกกรอบอะไรบ้าง ต้องรับว่าไม่มีใครได้ครบถ้วนทุกอย่าง ได้อย่างต้องเสียอย่าง ได้มากเสียน้อย ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ

  1. การแต่งตั้งนายกในวันพรุ่งนี้
  2. การเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายของคนหลายกลุ่ม
  3. การหาจุดร่วมของความแตกแยกในความคิดของคนปัจจุบัน
  4. การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ประเด็นแรก การแต่งตั้งนายกในวันพรุ่งนี้ เรื่องความเหมาะสมของคุณสมัครที่จะเข้ามาเป็นนายกเป็นประเด็นที่น่าคิด สิ่งที่ศาลรธน.วินิจฉัยมีประเด็นที่เราจะเอามาพิจารณาประกอบให้คุณสมัครเป็นนายกได้ต่อไปหรือไม่อยู่บ้าง

ตามมาตรา 171 172 173 174 เรื่องการสรรหาหรือแต่งตั้งนายก

โดยเฉพาะประเด็นเรื่องข้อกม. ข้อแรกที่ว่านายกต้องมาจากสมาชิกสส. รัฐบาลแห่งชาติมีคนนอกเข้ามาเป็นนายกจึงเป็นไปได้ยาก

ประเด็นที่สอง คือ ม.174 เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคล โยงไปถึง ม.102 ในหลายเรื่อง ดูตามมาตรานี้แล้วคุณสมัครมีครบและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามม.174 ถ้าทั้งสองมาตรานี้ก็น่าจะเป็นนายกได้ แต่ต้องดู ม.172 ซึ่งเป็นม.สำคัญที่ต้องคิดนอกกรอบคือ

ม.172 ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่เรียกประชุมสภาเป็นครั้งแรกตาม ม.127 ความสำคัญอยู่ที่บุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายก การพิจารณาว่าใครสมควรหรือไม่ น่าจะไม่ใช่พิจารณาตามม.174 ในเรื่องคุณสมบัติและเรื่องลักษณะต้องห้ามเท่านั้น เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็ควรจะเขียนว่าให้เลือกคนที่มีคุณสมบัติตามม.174 ได้เลย แต่ว่าประเด็นหลัก ม.172 บอกว่าบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกจึงควรมีอะไรที่มากกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา 174 ประเด็นที่จะนำมาพิจารณาว่าอะไรสมควรหรือไม่คงต้องย้อนไปดูถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ฉบับนี้และทุกฉบับต้องการคนที่มีจริยธรรม ไม่มีความด่างพร้อยในการเข้าสู่ตำแหน่ง แม้เป็นสิ่งที่ไม่ได้เขียนในรธน. ฉบับนี้ตรงๆก็ตาม แต่มันสามารถพิจารณาและขยายการพิจารณาไปถึงตรงสิ่งที่แฝงอยู่ในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญได้ เพื่อย้อนกลับไปดูว่าศาล รธน. วินิฉัยว่ามีข้อความบางอย่างที่ศาลได้พูดถึงความเหมาะสมของคุณสมัครในการเข้ามาเป็นนายกต่อ ถ้าย้อนไปอ่านจะพบว่ามีเรื่องการทำเอกสารเท็จของคุณสมัครเพื่อมาแก้ตัวหรือหักล้างสิ่งที่มีการกล่าวอ้างว่าตนเองได้ค่าตอบแทน และมีประเด็นต่อเนื่องกันหลายเรื่อง ศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นเท็จ การทำเอกสารเท็จไม่มีประเด็นถ้าไม่นำมาแสดงต่อศาลเพื่อทำเป็นหลักฐานในการที่ไม่มีความผิด เพราะการใช้เอกสารเท็จเป็นความผิดทางอาญา ศาลฟังได้ว่ามีการใช้เอกสารเท็จแล้ว ต้องดูว่าคุณสมัครยังสมควรเป็นนายกอีกหรือไม่ จะมีใครเสนอตีความอีกหรือไม่ว่าคุณสมัครยังคงมีความสมควรเป็นนายกอีกหรือไม่ การคิดนอกกรอบหลายคนอาจคิดว่าควรลดทิฐิตัวเองดีหรือไม่ ก่อนหน้านี้รู้สึกหมดหวังว่าคนสองกลุ่มจะเจรจากันได้ แต่มาคิดได้ว่าอาจเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่มีข่าวว่า ทักษิณโทรหาประชาธิปัตย์เพื่อร่วมจัดตั้งรัฐบาล แต่ประชาธิปัตย์ปฎิเสธ จุดไม่ได้อยู่ที่พรรคทั้งสองจะจัดตั้งได้หรือไม่ แต่สนใจที่เห็นกระบวนการติดต่อหากันระหว่างกลุ่มพรรคสองพรรคว่าอาจมีอะไรทำให้เดินต่อไปได้ แม้จริงๆรัฐบาลแห่งชาติอาจไม่จำเป็นต้องไม่มีพรรคฝ่ายค้าน ทุกอย่างเป็นไปได้ พลังประชาชนและประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาโดยมีภารกิจในเรื่องของการปรับปรุงหรือสร้างความสมานฉันท์ในรอบ 1 ปีข้างหน้า

ประเด็นที่สองเป็นเรื่องของกลุ่มพันธมิตร ต้องขอบคุณที่หลายเรื่องพันธมิตรต่อต้าน  หรือจุดประกายการต่อต้าน หลายเรื่องนอกลู่นอกทางไปบ้างก็สามารถดึงกลับมาได้ด้วยพลังของพันธมิตร หลายเรื่องเรารู้สึกสบายใจที่ศาลอ่านคำวินิจฉัยในหลายเรื่องที่ผ่านมา ซึ่งพันธมิตรก็ควรต้องเดินทางเข้าสู่กระบวนการของศาลด้วยเช่นกัน เป็นสิ่งที่ต้องกล้าที่จะแนะนำและก็ต้องบอก แม้สิ่งที่ได้รับกลับมาจะไม่ชอบก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่พันธมิตรยืนมาโดยตลอด

เรื่องที่สาม เป็นเรื่องความแตกแยกในความคิด ช่วย 3-5 ปีที่ผ่านมามีความแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรงในหลายเรื่องต้องมาหาความเข้าใจในความคิดที่แตกต่าง เรื่องแรกคือความเข้าใจในเรื่องจริยธรรมในสังคม เป็นความเข้าใจที่แตกต่างกันแบบสองขั้ว หรือรู้แต่ไม่ต้องการเคารพต่อจริยธรรม เป็นประเด็นที่ต้องดูว่าจริยธรรมคืออะไร เหตุการณ์ที่ผ่านมา เช่น การขายหุ้นโดยไม่เสียภาษี การคอรับชั่นทางนโยบาย การให้ต่างชาติมาใช้กระบวนการการจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นของต่างด้าวเป็นประเด็นเรื่องจริยธรรมทั้งหมด บางเรื่องผิดกฎหมายแต่บางคนเห็นว่าผิดจริยธรรม เป็นประเด็นที่ต้องคุยกันว่าอะไรเป็นจริยธรรมที่ควรจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องหาจุดร่วมว่าตรงกลางคืออะไร เป็นเรื่องจริยธรรมการเมือง หรือมารยาททางการเมืองหรือเปล่า เมื่อวันที่เกิดการต่อสู้ระหว่างนปก.กับพันธมิตร วันนั้นจะสืบข่าวว่ามีการปะทะกันได้หรือไม่ เท่าที่ดูหลายแห่งบอกว่ามีการเตือนว่าจะมีการยกขบวนมาปะทะกัน  คนที่มีหน้าที่รักษาความเรียบร้อยของรัฐบาลทำอะไรอยู่ มีตำรวจเพียงแค่ 200 คน และไม่มีอาวุธเลยนั้นจะรับมอไหวหรือไม่ เป็นมารยาททางการเมืองว่าถ้าเกิดเกตุการณ์เช่นนี้ รมต.มหาดไทยต้องลาออกเพราะเกิดเหตุการณ์นี้แล้วตัวเองไม่ได้รับผิดชอบเพราะไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ ประเด็นจริยธรมเป็นประเด็นแรกที่ต้องหาจุดร่วมว่าคือะไร

ประเด็นที่สองเป็นเรื่องสังคมไทยที่เน้นรูปแบบไม่เน้นสาระ เช่น รธน.เขียนว่ามีการเรียนฟรีคุณภาพ 12 ปี คืออะไร ภาคอื่นเปรียบเทียนกับเตรียมอุดมมีคุณภาพเท่ากันหรือไม่ เป็นเนื้อหาที่รัฐบาลต้องดูไม่ใช่รูปแบบ ถ้าใกล้เคียงกันคือต้องทุ่มงบลงไปเพื่อให้คุณภาพใกล้เคียงกัน พยาบาลฟรีบัตรทองก็เช่นกัน ในปีแรกจุฬาฯต้องควักเงิน 200 ล้านจากทุนสำรองของจุฬาฯมาจ่ายแต่รัฐบาลได้หน้าไป

ประเด็นที่สาม เรื่องความซับซ้อนในการตีความกฎหมาย ความเข้าใจของกฎหมายมีมากขึ้น ต้องหาจุดร่วม

ประเด็นที่สี่ เรื่องประชานิยม ต้องยอมรับว่าอย่างไรก็ต้องอยู่กับเราอย่างไหนยอมรับได้ ต้องหาว่าระดับไหนเป็นประชานิยมที่ยอมรับได้ แล้วหาทางว่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร

ประเด็นที่ห้า การทำร่างรธน.ใหม่ ที่หลายคนบอกว่า 50 เป็นผลผลิตของกลุ่มปฏิวัติเผด็จการ

แต่ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตามประเด็นเหล่านี้ถูกร่างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาในปี 40 ซึ่งแก้ไขได้ในระดับหนึ่งพอสมควร แต่พอใช้ถึงจุดหนึ่งจะเห็นว่ามีข้อขัดข้อง ซึ่งไม่ได้หมายว่า รธน.ไม่ดี แต่ถ้าการใช้ไปแล้วมีความยากลำบากก็แก้ได้ ถ้ามีรัฐบาลผสมที่แข็งแกร่งร่วมกันทำงานต่อไปได้ ก็ตั้งสภาร่างขึ้นมาใหม่ หาคนใหม่เข้ามา หาฉบับใหม่ออกมาใช้

ประเด็นสุดท้ายคือ รูปแบบของประชาธิปไตย เราอยู่ในรูปแบบนี้แต่พอพันธมิตรเสนอ 70: 30 เราก็ตั้งคำถามว่าเป็นประชาธิปไตยรูปแบบอะไร แบบพันธมิตรหรือไม่ ส่วนตัวไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ไม่ทราบรูปแบบ แต่ถ้าเราคิดนอกกรอบเราอาจคิดว่ามีอะไรที่จะพิจารณาด้าน 70:30 ตรงนี้ได้บ้าง ที่ได้ยินมา ปชต.มีทั้งแบบเลือกตั้ง และแบบเลือกจากกลุ่มอาชีพ ถ้าจะเสนอให้พิจารณาว่าเป็นทางหนึ่งที่เป็นไปได้ คือ 30 มาจากการเลือกตั้งแบ่งเขต 70 มาจากกลุ่มอาชีพ ได้หรือไม่ ซึ่งกลุ่มอาชีพปัจจุบันเราก็มีแบบบัญชีรายชื่อที่ต้องสังกัดพรรค เราเปลี่ยนมาเป็นแบบไม่สังกัดและมีความเป็นกลางทางการเมือง แล้วให้ปชช.เลือก Party List ดูว่าแต่ละพรรคจะได้สิทธิจาก Party Listที่ตนเองเสนอไปเท่าไร ไม่ใช่ให้พรรคเลือกParty List ของตัวเอง แต่ให้ Party List อีกกลุ่มหนึ่งเลือก ก็น่าจะเป็นปชต.ได้เพราะเป็นเรื่องที่ปชช. เลือกจะให้ผู้แทนที่เป็นกลางที่เสนอโดยพรรคกี่คน แต่คนที่จะเลือกเข้าไปนั่งไม่ใช่ให้พรรคพลังประชาชนเลือก แต่ให้ Party List ประชาธิปัตย์เป็นคนเลือก ให้มีระบบกระบวนการคานว่าเป็นกลางหรือไม่ก่อนมีการลงคะแนนเสียงก็ได้ ระบบนี้เป็นปชต.หรือไม่ เท่าที่ดูอเมริกาก็คือเลือกตัวแทน แล้วให้ตัวแทนไปเลือกประธานาธิบดี จึงเป็นเรื่องที่เราต้องคิดนอกกรอบและจะสละอะไรบางอย่างในช่วงปีนี้บ้าง

รศ.สิริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม กล่าวสรุปการสัมมนาว่า

ที่เราเห็นตรงกันเราวิตกกังวลว่าประชาธิปไตยไทยจะไปรอดได้อย่างไร ข้อยืนยันคือมีทั้งข้อกังวลเฉพาะหน้า ว่าภาวะผู้นำที่เราจะได้ จะมีภาวะจริงผู้นำจริงหรือไม่ คาดหวังว่าสถาบันรัฐสภาจะเป็นผู้ใหญ่พอที่จะคิดถึงมาตรฐานขั้นต่ำทางจริยธรรมของผู้นำ มาตรฐานขั้นต่ำที่ประเทศเราต้องมีโอกาสได้ผู้นำที่มีศักดิ์ศรี คิดเฉพาะหน้าก้มองว่าสังคมไทยตอนนี้ชัดเจนว่ามีความขัดแย้งและแตกต่างกันมาก แต่ทุกท่านก็ชวนให้มองเห็นว่าเป็นความขัดแย้งที่มีรากเหง้ามาจากการใช้อำนาจในทางไม่ชอบ เรื่องคอรัปชั่น ความขัดแย้งต้องการความเข้าใจไมใช่เฉพาะหน้าอย่างเดียวแต่ต้องมองไกลออกไปด้วย ประเด็นที่สามที่มองเห็นตรงกันคือ การตื่นตัวของพลังนอกสภา การเมืองภาคพลเมืองในการตรวจสอบคอรัปชั่น เป็นปรากฏการณ์ที่ใหญ่โตกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นเรื่องที่เราต้องแสดงให้เห็นว่าเราต้องร่วมเรียนรู้กับสังคมไปด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็มีเรื่องลบ เรื่องที่น่าห่วงใย บรรยากาศการสร้างความเกลี่ยชังระหว่างกันก็มีตามไปด้วย การสร้างความแตกแยกก็มีร่วมกันไปด้วย สังคมไทยไม่ใช่มีแค่คนสองกลุ่ม หลายท่านพูดถึงพลังเงียบ สังคมไทยต้องการปฏิรูปจริงๆ ไม่ใช่ต้องการเพียงประชาธิปไตยเลือกตั้ง ซึ่งส่วนนี้ที่ประชุมเห็นตรงกัน โจทย์ใหญ่ไม่ใช่มองว่าใครถูกผิดหรือมีสิทธิตามตัวหนังสือ ตามกฎหมายหรือไม่ แต่เรามองว่าปัญหาตอนนี้คือปัญหาการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันและประชาธิปไตยที่รับผิดชอบต่อประโยชน์สาธารณะมากขึ้น ข้อเสนอที่เห็นตรงกันมากขึ้น ตรงกับประธานสภาอุตสาหกรรมไทย(คุณสันติ วิลาสศักดานนท์)คือ

  1. เสนอให้ยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน
  2. ยังวิตกภาวะผู้นำของสถาบันรัฐสภา ที่ผ่านมาเรายังไม่มั่นใจ แต่หวังว่าภายใน 1-2 วันข้างหน้าเราจะได้เห็นการมีมโนธรรมสำนึกที่ชัดเจนของกระบวนการคัดสรรผู้นำ ที่สะท้อนถึงความรับผิดชอบของสภาว่าจะเป็นที่พึ่งของสังคมไทยได้หรือไม่เพราะเงื่อนไขคือถ้าได้ผู้นำที่มีภาวะมีคุณธรรมจริยธรรมจะช่วยคลี่คลายไปในภาวะที่พูดกันได้ง่ายมากขึ้น
  3. ต้องชวนมองว่าเรายังมีการบ้านต่อไปอย่างไร ไม่ว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งสองขั้วจะลงเอยในระยะสั้นอย่างไร สังคมไทยที่มีท้องถิ่นที่แตกแยกกันมากขึ้นด้วย สังคมไทยที่ได้รับผลร้ายจากการเมืองที่ไม่มีคุณธรรมจริยธรรม สังคมไทยก็เรียกร้องหาการปฏิรูปการเมืองที่แท้จริง การบ้านคือวิธีคิดต่อไปต้องช่วยกันศึกษาแลกเปลี่ยนในภาคีต่างๆของสังคมเพื่อร่วมกันหาทางเลือกต่อไป

แท็ก คำค้นหา