แถลงการณ์ส.นักข่าววิทยุฯขอให้กสทช.ทบทวนมตการออกใบอนุญาตทีวีดิจิทัลสาธารณะ

logotbjaweb

แถลงการณ์สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

เรื่อง      ขอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

(กสทช.) ทบทวนมติเรื่องการกำหนดการออกใบอนุญาตทีวีดิจิทัลสาธารณะ 12 ช่อง

 

 

จากการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ไทย (กสท.) มีมติเห็นชอบ 3 ต่อ 2 เสียง ในการกำหนดช่องรายการสำหรับกิจการบริการสาธารณะโทรทัศน์ระบบดิจิทัล จำนวน 12 ช่องรายการ ซึ่งมีการกำหนดประเภทและคุณสมบัติผู้มีสิทธิยื่นขอใบอนุญาตได้ตามมาตรา 10 ใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551  ทั้งนี้ทีวีดิจิทัลสาธารณะ 12 ช่องตามกำหนดของ กสท.แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจัดให้แก่ผู้ประกอบการรายเดิมคือช่อง 5,ช่อง 11 และไทยพีบีเอส (ในส่วนของไทยพีบีเอส นอกจากได้ช่องทีวีดิจิทัลสาธารณะตามสิทธิการเป็นผู้ประกอบการรายเดิมแล้ว ยังได้เพิ่มอีก 1 ช่องภายใต้บันทึกข้อตกลงเบื้องต้น(MOU) ที่ทำไว้กับคณะกรรมการกิจการเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขณะที่อีก 8 ช่องนั้น  กสท.จะพิจารณาออกใบอนุญาตตามคุณสมบัติ (Beauty Contest)

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เห็นว่ามติของ กสท. เป็นการละเมิดเจตนารมย์การปฏิรูปสื่อที่จะต้องกระจายคลื่นความถี่ที่อยู่ในการครอบครองของรัฐไปสู่สาธารณะ แต่มติของ กสท. กลับเป็นการมอบคลื่นความถี่ที่เป็นช่องบริการสาธารณะไปให้กับหน่วยงานของรัฐ โดยที่ กสท. ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ใดๆ

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงขอเรียกร้องให้

1. กสทช. ทบทวนมติในการออกใบอนุญาตทีวีดิจิทัลสาธารณะทั้ง 12 ช่อง เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของการปฏิรูปสื่อและเพื่อให้เป็นไปตามหลักการของทีวีสาธารณะอย่างแท้จริง

2. กสทช.ต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาการให้ใบอนุญาตตามคุณสมบัติ (Beauty Contest) ให้ชัดเจน โดยจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคมอย่างรอบด้าน

3.กสทช.ไม่ควรเร่งรีบการออกใบอนุญาตทีวีดิจิทัลสาธารณะพร้อมกันทั้ง 12 ช่องในครั้งเดียวกัน โดยขอให้พิจารณาจากความจำเป็น และคุณภาพของเนื้อหารายการที่จะนำเสนอเนื้อหาเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ

4.ในการออกใบอนุญาตทีวีจิดิทัลสาธารณะ กสทช. ต้องไม่ทำให้โครงสร้างการแข่งขันในอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์บิดเบี้ยว เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน  ทั้งนี้เนื่องจากการออกใบอนุญาตทีวีดิจิทัลสาธารณะไม่มีค่าใช้จ่ายในการประมูล, ค่าธรรมเนียมรายปี และสามารถหารายได้จากการโฆษณาได้โดยไม่จำกัด

 

ทั้งนี้สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และหาก กสทช.ไม่มีการแก้ไขทบทวนมติดังกล่าว สมาคมฯ จะใช้ช่องทางตามสิทธิในรัฐธรรมนูญต่อไป

 

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

31 มีนาคม 2556

แท็ก คำค้นหา